ราคาข้าวปรับสูงขึ้นในรอบ 7 ปี มาจากปัจจัยประเทศผู้ส่งออกหลักจำกัดการส่งออก – ภัยแล้งของไทย

764
0
Share:

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนา และเกษตรกรไทยเปิดเผยถึงปัจจัยที่ราคาข้าวปรับตัวสูงสุดรอบ 7 ปี ว่า ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เช่น อินเดีย ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อคุมโควิด19 ทำให้ผู้ค้าข้าวของอินเดียต้องระงับการทำสัญญาส่งออกล็อตใหม่ ส่วนล็อตที่เซ็นสัญญาซื้อขายไว้แล้ว ก็เจอปัญหาส่งมอบได้ล่าช้า
.
ส่วนเวียดนาม รัฐบาลได้ประกาศจำกัดการส่งออกข้าวเพื่อไว้ใช้บริโภคในประเทศ และไทยผลผลิตข้าวได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คาดว่าผลผลิตจะลดลงจาก 32 ล้านตันข้าวเปลือกในปีที่ผ่านมา เหลือประมาณ 28 ล้านตันในปีนี้ โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย พบว่าราคาข้าวขาว 5% ส่งออกของไทย ณ ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 575-580 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สูงสุดในรอบ 10 ปี
.
จากปัจจัยต่างๆ เวลานี้ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสดความชื้น 25% ขึ้นไป โรงสีรับซื้อที่ 9,000-10,000 บาทต่อตัน ขณะที่ความชื้นไม่เกิน 15% ซื้อที่มากกว่า 10,000 บาทต่อตัน(10,500-10,900 บาท) ถือว่าสูงสุดในรอบ 5-7 ปี
.
ส่งผลราคาข้าวสารที่โรงสีจำหน่ายขยับขึ้นจาก 11-12 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เป็นระดับ 18 บาทต่อกก. ซึ่งจะส่งผลถึงราคาข้าวสารที่ขายในโมเดิร์นเทรด และร้านค้าข้าวทั่วไปจะขยับขึ้นแน่นอน
.
แต่ผู้บริโภคไม่ต้องห่วงว่าข้าวจะขาดแคลนไม่เพียงพอบริโภค เพราะยังมีข้าวรอบนาปรังรอเก็บเกี่ยวอีกเป็นล้านไร่ โดยชาวนาปลูกทั้งในพื้นที่ชลประทาน พื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำที่ยังพอมีน้ำ หรือใช้น้ำจากการขุดบ่อบาดาล ก็ขอให้ทุกฝ่ายยินดีกับชาวนาด้วย เพราะแต่ก่อนชาวนาขายข้าวเปลือกได้แค่ 5-6 พันบาทต่อตัน แทบไม่มีกำไร แต่หากขายได้ 8 พันบาทขึ้นไปชาวนาอยู่ได้
.
อย่างไรก็ตามผลจากราคาข้าวเปลือกและข้าวสารขยับสูงขึ้นห่วงคนหาเช้ากินค่ำจะแบกรับภาระไม่ไหว เพราะปัจจุบันไม่ใช่เพียงข้าวที่ราคาจะปรับสูงขึ้น แต่ราคาสินค้า ข้าวของทุกอย่างเวลานี้ก็ขยับสูงขึ้น ยิ่งในสถานโควิด-19 ระบาด คนตกงานกันจำนวนมากรายได้ลดลง