ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งสูงกว่า 4 ดอลลาร์ ปิดเหนือ 104 ดอลลาร์

339
0
Share:

ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า รายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ตรงกับเวลาในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา พบว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 102.73 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +4.20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +4.3% ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์รวม 2 วันทำการติดกันทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงถึง 9.90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือร่วง -9.24% ส่งผลราคาปิดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 104.65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +3.96 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +3.90% ก่อนหน้านี้ รวม 2 วันทำการติดกันทำให้ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ร่วงลงถึง -12.81 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือร่วง -11.45% ส่งผลราคาปิดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งถูกเทขายอย่างหนักมากถึง -10.73 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลนั้น ทำสถิติส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำมากที่สุดอันดับ 3 นับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบดังกล่าวเริ่มทำการซื้อขายครั้งแรกเมื่อปี 1988 หรือในรอบ 34 ปี ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ทำสถิติดำดิ่งมากที่สุดในรอบ 1 วัน คือ -16.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม

สาเหตุนักลงทุนกลับมากังวลอย่างมากกับภาวะตลาดน้ำมันดิบตึงตัวมากกว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาถดถอย ซึ่งอาจจะกำลังเกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นแล้ว ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากศาลในรัสเซียมีคำตัดสินให้ แคสเปียน ไพป์ไลน์ คอมซอร์เตียม หรือ CPC ระงับการปฏิบัติการส่งออกน้ำมันดิบใน 30 วันจากนี้ไป ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบราว 1% ของตลาดโลกหดหายไปจากตลาด นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับอิหร่าน

ปัจจัยที่ยังคงมีผลต่อพื้นฐานราคาน้ำมันดิบในระดับสูงนั้น ยังคงมีผลต่อการซื้อขายในระยะกลาง ได้แก่ กลุ่มโอเปกพลัสแถลงผลการประชุมว่ามีมติยึดตามข้อตกลงกาคปรับขึ้นกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามมติเดิมคือ 648,000 บาร์เรล/วันในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะน้ำมันดิบตลาดโลกตึงตัวอย่างมาก นอกจากนี้ คนงานในแท่งขุดเจาะน้ำมันดิบทั้ง 74 แห่งในประเทศนอร์เวย์จะผละงานประท้วงตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบราว 5% ของประเทศนอร์เวย์ ทำให้น้ำมันดิบขาดหายจากตลาดโลกราววันละ 320,000 บาร์เรล นอกจากนี้ ความไม่สงบที่รุนแรงในประเทศลิเบียส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตแบะการส่งออกน้ำมันดิบลดลงมาเหลือระหว่าง 365,000-409,000 บาร์เรล/วัน จากเดิมที่ส่งออกได้ถึง 865,000 บาร์เรล/วัน