ราคาพลังงานพุ่งดันเงินเฟ้อเดือนส.ค.ปรับขึ้น 7.86% ขณะค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ติดต่อกัน

306
0
Share:
ราคา พลังงาน พุ่งดัน เงินเฟ้อ เดือนส.ค.ปรับขึ้น 7.86% ขณะค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ติดต่อกัน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือน ส.ค. 2565 เท่ากับ 107.46 ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับ 107.41 โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาฯ เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. เพียง 0.05% ซึ่งเป็นดัชนีราคาฯที่ค่อนข้างต่ำ (เท่ากับ 99.63) ทำให้อัตราเงินเฟ้อของ ส.ค. 2565 อยู่ที่ 7.86% เทียบกับปีที่แล้ว ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือน ก.ค. 2565 ที่สูงขึ้นไปอยู่ที่ 7.61% และคาดว่าเงินเฟ้อของไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว

สาเหตุก็เนื่องมาจากในช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา การขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรืออย่างน้อยอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัว ขณะเดียวกัน เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าอื่น ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานนโยบายฯ คาดว่าหากสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกยังเป็นเช่นนี้ เงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ก็คงจะไม่ขยับขึ้นไปอีก โดยยังคงคาดว่าจะอยู่ที่ 5.5-6.5% แต่ยังกังวลเรื่องน้ำท่วม ที่หากยืดเยื้ออาจทำให้ราคาพืชผักสูงขึ้น

ส่วนความขัดแย้งในภูมิภาคหากไม่รุนแรงมันจะไม่กระทบเรื่องต้นทุนสินค้านำเข้า อีกทั้งยังต้องจับตาดูค่าบาท และการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าในประเทศที่ผ่านมามี มาม่า กับปุ๋ยที่ปรับขึ้นราคา ซึ่งการทยอยปรับแบบนี้ทำให้คุมเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่งโดยปัจจุบันมีมาตรการภาครัฐที่ช่วยค่าครองชีพไว้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นราคาพลังงานที่เติบโตถึง 30.50% แม้ราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตที่สำคัญยังคงสูงขึ้น

เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อของไทยเทียบกับต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อของไทย เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 7.61% อยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยสูงเป็นอันดับที่ 85 จาก 127 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข (ข้อมูลจาก TradingEconomics ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2565) ยังดีกว่าหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร (ก.ค. 65 อยู่ที่ 10.1%) บราซิล (ก.ค. 65 ที่ 10.07%) และสเปน (ส.ค. 65 ที่ 10.4%)