ราชกิจจาฯประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านระบบออนไลน์

890
0
Share:

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 เนื่องจากในปัจจุบันมีวิวัฒนาการของการใช้เทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการและร้านค้าบางส่วนใช้ช่องทางในการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ทำให้ยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลา สถานที่ และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด
.
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่ายและลดผลกระทบอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีความจำเป็นในการออกประกาศ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 30 (6) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 นายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
.
ข้อ 1 ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงหรือเป็นการดำเนินการใดๆ ในลักษณะการเชิญชวนให้ซื้อ การเสนอขายหรือการขายสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภคโดยตรงด้วยการตลาดหรือบริการการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ขายและผู้บริโภคซื้อขายได้โดยไม่ต้องพบกัน
.
ข้อ 2 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีการซื้อขายและการชำระราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
.
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
.
ประกาศ ณ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
.
อย่างไรก็ตามหลังจากมีประกาศออกมาทำให้สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นดังกล่าว ว่าเป็นการเอื้อผลประโยชน์ต่อนายทุน และตัดช่องทางจำหน่ายของผู้ค้ารายย่อย ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ค้ารายย่อยก็มีช่องทางการจำหน่ายน้อยอยู่แล้ว
.
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงว่า ยอมรับว่า ปริมาณ ขั้นตอนผลิต และทุนจดทะเบียน เป็นสาเหตุที่ทำให้รายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งกรมสรรพามิตกำลังศึกษาถึงความเหมาะสม ส่วนที่กล่าวหาว่าเอื้อทุนรายใหญ่ไม่จริง เพราะการผลิตต้องคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยด้วย