รุมสกรัม! ส.ส.ทั้ง 2 ฝั่งยันนักวิชาการแห่ด้อยค่าไอเดีย ส.ว.ชูตั้ง รัฐบาลแห่งชาติ

253
0
Share:
รุมสกรัม! ส.ส. ทั้ง 2 ฝั่งยันนักวิชาการแห่ด้อยค่าไอเดีย ส.ว. ชูตั้ง รัฐบาลแห่งชาติ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง กระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ว่ายังมองไม่เห็นช่องทางว่าจะเดินไปได้อย่างไร เพราะประชาชน ได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างล้นหลาม และมีฉันทามติที่ชัดเจนว่าต้องการให้ใครเป็นรัฐบาล ขณะเดียวกันเห็นว่ารัฐบาลแห่งชาติคือการไม่เคารพเสียงของประชาชน ซึ่งทุกพรรครวมถึง ส.ว. เอง พูดชัดเจนว่าจะเคารพเสียงประชาชน แต่ถ้าไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และเลือกใช้วิธีการพิเศษเข้ามา อาจนำประเทศไปสู่ความวุ่นวาย

ดังนั้น ขอฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่า หากคิดที่จะใช้วิธีการพิเศษ อาจสร้างความไม่พอใจให้พี่น้องประชาชนที่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งผลออกมาชัดเจนว่าประชาชนมีฉันทามติอย่างไร ประชาชนให้ความไว้วางใจใคร ซึ่งหากฝืนเดินหน้า ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยง นำมาสู่ความไม่พอใจของประชาชน จนกลายเป็นช่องทางการเข้ามาของผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ ตนอยากเห็นสิ่งที่เป็นเจตนารมณ์ของประชาชน และหาทางออกร่วมกัน ตามครรลองของประชาธิปไตย

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล แกนนำและว่าที่ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายจเด็จ อินสว่าง ส.ว.เสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ว่า ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งมา และในสายตาของนานาประเทศกำลังมองว่าประเทศไทยกำลังกลับคืนเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยกำลังดำเนินการอยู่ คำว่ารัฐบาลแห่งชาติไม่ควรพูดถึงและเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ต้องขยายความแล้ว เมื่อถามว่าเป็นเสียงสะท้อนอะไรมาจากส.ว.หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เสียงแข็งว่าจะไม่โหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตพรรคก้าวไกล

นายวรวัจน์ กล่าวว่า การจะเลือกใครหรือไม่เลือกใครเป็นความคิดเห็นของแต่ละคน เมื่อถึงเวลาแล้วการเลือกก็จะเป็นไปตามกรอบและความต้องการของประชาชน วันนี้ปล่อยให้กระบวนการดำเนินการไปก่อน อย่าเพิ่งไปพูดถึงอะไรที่เป็นอนาคต ที่อาจจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ แต่เชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยเกิดขึ้นและเป็นไปได้ และสามารถเข้าสู่การบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า ไม่ค่อยเข้าใจว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติจะมองในทิศทางไหน หากมองความเป็นไปได้ การมีรัฐบาลแห่งชาติจะเกิดภายใต้การปฏิวัติรัฐประหาร หรือเกิดจากการเชื่อมโยงของสภาวการณ์ที่เกิดความไม่สงบกับบ้านเมือง หรือเกิดประเด็นว่าไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ไม่รู้จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร หรือหาทางลงไม่ได้ ก็จะกลายเป็นรัฐบาลแห่งชาติ กับอีกแบบคือหาทางลงยาก แล้วร่วมกันเป็นรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ (Grand Coalition) อาจผสมกันทั้งหมด กลายเป็นรัฐบาลแห่งชาติร่วมกันหรือลักษณะของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

“แต่ผมไม่แน่ใจว่าทำไมถึงเสนอกันในลักษณะนั้น ไม่เห็นทางว่าจะไปลงตรงรัฐบาลแห่งชาติได้อย่างไร ท้ายที่สุดอาจจะแปลเพียงแค่ว่ารัฐบาลแห่งชาติคือ ให้บรรดาผู้ที่กำลังจะรวมกันจัดตั้งรัฐบาล คำนึงถึงประโยชน์ของชาติ ประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ส่วนแนวคิดดังกล่าวจะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่นั้น หากเป็นเพียงแนวคิดก็อาจจะเกิดแรงกระเพื่อมตะกอนที่นอนก้นอยู่บ้าง แต่คงไม่ถึงกับเกิดความวุ่นวาย ทางความคิดอาจจะถกกัน แต่ยังไม่กระทบกับกายภาพของบ้านเมือง แต่ถ้าถึงเวลาต้องทำจริงๆ ก็อาจจะกระทบและทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นและต้องระมัดระวัง” นายเจษฎ์ กล่าว

นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณี นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. เสนอแนวคิดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และเตรียมเสนอ กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อตอบโจทย์การเมืองในเวลานี้ว่า อยากถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการปลดล็อกอะไร มีล็อกอะไรที่ต้องปลด เพราะวันนี้ยังไม่มีการประกาศและรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล คงจะเริ่มเดินต่อไปได้ และวันนี้ยังไม่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ค่อยว่ากันตามสถานการณ์ ตนไม่แน่ใจว่า นายจเด็จ มีข้อมูลอะไร ถึงออกมาพูดช่วงนี้ แต่ส่วนตัวคิดว่า ไม่น่าจะเสนออะไรในช่วงนี้ เพราะยังไม่มีการรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

เช่นเดียวกันกับ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่มีปัญหาเพื่อเป็นทางออกของบ้านเมือง ว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของนายจเด็จ สามารถกระทำได้ แต่เร็วเกินไปที่จะพูดในเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยยังไม่ถึงทางตันทางการเมือง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่อาจทราบแน่ชัดว่า พรรคการเมืองใดจะรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะการชนะการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ชนะขาด ตัวแปรคือเสียงจากพรรคภูมิใจไทยและเสียงสมาชิกวุฒิสภา

การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เคยพูดกันมาหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยหยิบมาตรา 5 วรรคสองของรัฐธรรมนูญมาอุดช่องว่างทางกฎหมายโดยอนุโลม โดยอาศัยประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดข้อขัดแย้งและสถานการณ์บ้านเมืองที่แก้ไขไม่ได้ เหมือนกับย้อนตำนานในอดีต นายกพระราชทาน ม.7 แต่บริบทการเมืองปัจจุบัน แตกต่างจากอดีต รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ รัฐบาลรักษาการอยู่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ยังไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง ทางตันทางการเมือง ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลย่อมดำเนินการไป