ร้อนจัดผสมภัยแล้งสุดทุบกำไรชาวสวนทุเรียนกลายเป็นติดหนี้สิน ผลผลิตเสียหายถึง 80%

41
0
Share:
ร้อนจัดผสมภัยแล้งสุดทุบกำไรชาวสวน ทุเรียน กลายเป็นติดหนี้สิน ผลผลิตเสียหายถึง 80%

สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน จังหวัดอุทัยธานี พบว่าเจ้าของสวนทุเรียนถึงกับน้ำตาตก เมื่อทุเรียนหมอนทองที่ปลูกมา 5 ปี ดูแลด้วยความทะนุถนอมอย่างดี และให้ผลผลิตปีแรกนั้น เผชิญกับการขาดน้ำหล่อเลี้ยงจากลำธารธรรมชาติไซเบอร์ที่ไหลมาจากน้ำตกไซเบอร์ หรือน้ำตกหินลาด ส่งผลให้ทุเรียนที่จะเก็บขายได้ปีแรกร่วงหล่นเสียหายเป็นจำนวนมาก บางส่วนของทุเรียนเริ่มยืนต้นตายเสียหายยกสวน ทำให้เงินที่ทุ่มลงทุน สูญไปทันทีเท่ากับเสียเวลาไปถึง 4 ปี แต่ไม่ได้อะไรกับมาเลย นอกจากหนี้สินที่ไปกู้เงินมาลงทุน จนเป็นหนี้เป็นสินติดตัว

ด้านนายสมควร เจริญอารยะ ประธานกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ภาวะร้อนจัดแล้งตั้งแต่ต้นมกราคม 2567 มาถึงทุกวันนี้ บางพื้นที่ต้นผลไม้ยืนต้นแห้งเหี่ยวตายจากการขาดแคลนน้ำ ทุเรียนแปลงใหญ่เสียหายไปแล้ว 40-50% ทุเรียนบางต้นเคยให้ผลผลิตราว 80 ลูก มาในปีนี้เหลือแค่ 20-40 ลูก ซึ่งจะเก็บผลผลิตประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 จากข้อมูลล่าสุด ปรากฏว่า จังหวัดยะลาเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งภาวะแล้งและอากาศร้อนจัดต่อเนื่อง รวมถึงมีฝนตกมาต่อเนื่องในช่วง 10 วันก่อนถึงวันแรงงาน โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย จึงส่งผลทำให้ทุเรียนที่กำลังออกดอกได้รับความเสียหาย ดังนั้น ปีนี้คาดว่าผลผลิตทุเรียนหายไปเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ในปัจจุบัน ราคาทุเรียนร่วงตกต่ำลงมาก สาเหตุจากทุเรียนเวียดนามกำลังจะออกมาพอดีกับทุเรียนไทยที่ผลผลิตออกมาในเดือนพฤษภาคมนี้ ปริมาณผลผลิตทุเรียนในไทยที่เริ่มออกมากแล้ว ภาวะภัยแล้งและไม่มีน้ำ ชาวสวนบางจึงตัดทุเรียนทั้งต้น โดยไม่สนใจว่าทุเรียนอ่อน หรือแก่ ส่วนล้งรับซื้อทุเรียนนั้นรับเหมาซื้อไม่ได้คัดคุณภาพ ผลทุเรียนอ่อนเข้าไปสู่ตลาดจีน ทำให้เทขาย ตัดขาดทุน กดราคาดิ่งลง หากจีนตรวจพบทุเรียนอ่อน หรือทุเรียนด้อยคุณภาพมาจากไทย ก็จะเป็นช่องทางให้ทุเรียนเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งขันของไทยได้เปรียบเรื่องราคาที่ถูกกว่าทุเรียนไทยอยู่แล้ว คนจีนจึงเลือกของดีและราคาถูกจากเวียดนาม ปัจจัยต่อมา คือล้งจีนที่เข้ามาในภาคตะวันออกมีจำนวนพุ่งขึ้นมากนับกว่าพันรายในปีนี้ เมื่อรวมกับล้งไทยที่มีอยู่ จึงส่งผลปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนเพื่อใช้บรรจุทุเรียนส่งออกไปจีน

ทั้งนี้ ราคาทุเรียนในภาคตะวันออกของไทยมีราคาตกต่ำอย่างมาก พบว่า จากเดิมกิโลกรัมละ 200-210 บาท กลับตกต่ำมาเหลือกิโลละ 145-150 บาท หรือหายไปกว่า 30% นอกจากนี้ ยังคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ ราคาทุเรียนจะดิ่งอีก 30 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาในอีก 15 วันข้างหน้านี้ จากปัญหาภัยแล้งและขาดน้ำเลี้ยงทำให้ต้นทุเรียนขาดน้ำยืนต้นตาย