วงจรหนี้ไทย! แบงก์ชาติรับหนี้เสียไทยส่อเพิ่มอีก ปลดหนี้แต่ย้อนกลับติดหนี้อีก

339
0
Share:
วงจร หนี้ ไทย! แบงก์ชาติรับ หนี้เสีย ไทยส่อเพิ่มอีก ปลดหนี้แต่ย้อนกลับติดหนี้อีก

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใกล้ชิด โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีทยอยลดลงจากที่เร่งตัวสูงในช่วงโควิด โดยไตรมาส 1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี (เพิ่มขึ้นจากการปรับข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ โดยจากข้อมูลชุดใหม่ หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 91.4%)

ในระยะต่อไป หนี้เสีย (NPL) อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่จะไม่เห็น NPL cliff และเป็นระดับที่สถาบันการเงินบริหารจัดการได้ สอดคล้องกับมุมมองของ Rating agencies ต่อภาคธนาคารไทยที่ยังมั่นคง อีกทั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น

โดยหนี้กลุ่มเปราะบางที่อาจเสื่อมคุณภาพลง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว แต่ยังกลับมาชำระหนี้ไม่ได้

สำหรับสินเชื่อรถยนต์ ที่จัดชั้น stage 2 (SM) ที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด ไม่จำเป็นว่าจะกลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด ดูได้จากพฤติกรรมของลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าอาจเว้นงวดผ่อนรถเพื่อนำเงินไปหมุนจ่ายภาระอื่น ทำให้โดยทั่วไป SM ของสินเชื่อรถยนต์จะอยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ซึ่ง ธปท. ได้กำชับ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

แบงก์ชาติ จะเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยแนวทางที่จะดำเนินการ คือ

(1) เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา จนถึงการขายหนี้

(2) กลไก Risk-based pricing (RBP) หลักการสำคัญคือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง

(3) มาตรการ Macroprudential policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน (DSR)

แผนการนำมาใช้ในส่วนของ RL และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้ก่อนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยมาตรการ RBP สำหรับในเรื่อง MAPP การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ