วงจรอุบาทว์! คนไทยมีผลตอบแทนจากลงทุน-ฝากเงิน ติดลบมาเดือนกว่า แถมเงินเฟ้อพุ่งแต่เศรษฐกิจตกต่ำ

505
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยเดือนเม.ย. 2564 มาอยู่ที่ 3.41% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว นอกจากนี้ เงินเฟ้อไทยในเดือนเมษายน 64 ยังขยับขึ้นจากในเดือนมีนาคม 2564

แม้ว่าสาเหตุหลักจะมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปี 2563 ซึ่งโดนผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 รอบแรก แต่ก็ยังคงต้องติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันและสถานการณ์ค่าเงินบาท ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยมีโอกาสทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สภาวะเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน และเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากการระบาดของโรคระบาดโควิด-19 รอบสาม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปีนี้และปีหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสน้อยมากที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้น (เพราะไม่ใช่กรณีที่เงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว) โดย กนง. จะให้น้ำหนักกับการดูแลปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาเงินเฟ้อ และน่าจะยังต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม สอดคล้องไปกับมาตรการด้านการคลังที่ยังต้องเน้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อประคองสถานการณ์กำลังซื้อและรายได้เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปก่อน

.

ส่วนผลกระทบของเงินเฟ้อต่อผลตอบแทนจากการออมและลงทุนนั้น ต้องมองในฝั่งอัตราดอกเบี้ยตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะปรับตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวต่ำ สภาวะเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ และระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีสภาพคล่องสูง จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยตลาดและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย

ดังนั้น เมื่อเงินเฟ้อเร่งขึ้นจึงทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย หรืออัตราดอกเบี้ยที่หักด้วยเงินเฟ้อ เริ่มมีค่าติดลบแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา