วัยรุ่นจีนผุดเศรษฐกิจบี1บี2 ไลฟ์สไตล์ยุคต้านสังคมแพง กินข้าว-ช้อปปิ้งชั้นใต้ดินในห้าง

356
0
Share:
วัยรุ่น จีน ผุด เศรษฐกิจบี1บี2 ไลฟ์สไตล์ยุคต้านสังคมแพง กินข้าว-ช้อปปิ้งชั้นใต้ดินในห้าง

คนรุ่นใหม่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในเมืองเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ มาวันนี้ใช้เงินตามร้านรวงชั้นใต้ดินของตึกสำนักงานและศูนย์สรรพสินค้าสุดหรูหรา นั่นหมายถึงคนจีนรุ่นใหม่ได้หันมาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการใช้จ่ายเงินในกระแสฮิตใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจบี1บี2” หรือ B1B2 Economy กระแสหรือในที่สุดอาจกลายเป็นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ชาวจีนในรูปแบบนี้ คือ การใช้ชีวิตอย่างธรรมดาหรือติดดิน ซึ่งแตกต่างกับที่เคยเกิดขึ้นมาช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น การไปช็อปปิ้งสินค้าหรือบริการ การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาถูกลง ที่สำคัญ ร้านต่างๆเหล่านี้ล้วนอยู่ชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าระดับหรูหรา นั่นจึงหมายถึง ชั้น B1 หรือชั้น B2 ที่เป็นปุ่มกดในลิฟท์เวลาต้องการลงไปชั้นใต้ดิน

อาคารศูนย์การเงินนานาชาติเซี่ยงไฮ้ หรือไอเอฟซี (IFC) เป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทที่ปรึกษากฎหมายการลงทุน และอีกมากมาย ซึ่งมีประชาชนระดับมีฐานะดีถึงสูงมา นักบริหารมืออาชีพค่าตัวสุดแสนแพง และมนุษย์เงินเดือนที่ใส่สูทหรูหรา ใช้ชีวิตทำงานและใช้จ่ายเงินกับร้านแบรนด์เนมที่ตั้งอยู่ชั้นหนึ่ง เช่น หลุยส์ วิตตอง ชาแนล หรือร้านอาหารติ๋มซำหรูหราระดับดาวมิชลิน หรือร้านอาหารซีฟู้ดราคาแพงสุด นี่คือภาพปกติบนชั้นหนึ่งของอาคารนี้ ซึ่งปรากฏว่า ทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนที่ตกต่ำ ทำให้จำนวนคนที่เคยหนาตาลดน้อยลง คนช้อปปิ้งแบรนด์เนม หรือใช้บริการหดหายชัดเจน ซึ่งดูแปลกตาไปมากจากเมื่อช่วงหลังเปิดประเทศจีนในปีผ่านมา

แต่ความคึกคักอย่างแท้จริงกลับลงไปอยู่ชั้นใต้ดินของตึกศูนย์การเงินนานาชาติเซี่ยงไฮ้ หรือไอเอฟซี (IFC) ที่มีทางเดินเชื่อมไปมาสลับซับซ้อน ที่สำคัญ มีร้านขายชานมไข่มุก ร้านขายเบเกอรี่ ร้านขายเสื้อผ้าทั่วไป ร้านขายเครื่องประดับแนวจุกจิก และอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยคนจีนรุ่นใหม่จำนวนมากอย่างแออัด ถึงขั้นต้องรอคิวในช่วงเวลาพักเที่ยง

คนจีนรุ่นใหม่บางรายโพสต์ในโซเชียลมีเดียชื่อดัง เว่ยป่อ ว่าการทานอาหารในร้านอาหารเล็กๆ หรือซื้อเสื้อผ้า กางเกง ของใช้แนวจุกจิกมีราคาถูกแต่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อย่างยูนิโคลของญี่ปุ่น หรือแบรนด์อย่างมินิโซของเมืองกว่างโจว ก็ไม่ได้เกิดแรงกดดันกับกระเป๋าเงินเลยแม้แต่น้อย ที่สำคัญยังให้ความรู้สึกสบายๆ ด้วยซ้ำไป

เศรษฐกิจบี1บี2 ที่เกิดขึ้นในเมืองเซี่ยงไฮ้ กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงวิธีคิดของคนจีนรุ่นใหม่ที่เห็นตรงข้าม หรือต่อต้านการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์แบบฟุ่มเฟือย หรูหรา ฟุ้งเฟ้อของคนรุ่นดั้งเดิม คนจีนรุ่นใหม่สื่อให้เห็นว่าทุกวันนี้ มีความมั่นใจอย่างมากในรสนิยม และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีตราสินค้า หรือโลโก้ตัวบอกสถานะและไลฟ์สไตล์ เหมือนอย่างไลฟ์สไตล์แบบเดิมๆของคนจีนรุ่นมีฐานะดีถึงขึ้นมหาเศรษฐี ซึ่งอาจะเป็นพ่อและแม่ของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ที่มัดจะต้องมีกระเป๋าแบรนด์เนมอย่าง แอร์เมส (Hermes) รุ่นเบอร์กิ้น (Berlin) หรือรุ่นเคลลี่ (Kelly) ที่มีราคาแพงสุดโต่ง โดยสรุป คนจีนรุ่นใหม่วัยเจนเนอเรชั่นซี (Z) มีความฉลาดว่าจะซื้ออะไร และซื้อที่ไหน คนรุ่นนี้อยู่กับการใช้ชีวิตบนความเป็นจริง และเน้นมูลค่าที่อยู่บนความคุ้มค่าเป็นหลัก

ทั้งนี้ เศรษฐกิจบี1บี2 คนจีนรุ่นใหม่ เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า วิธีคิดและบรรทัดฐานการใช้ชีวิตของคนจีนในยุคใหม่ต้องการต่อต้านค่านิยมเดิมที่เน้นวัตถุนิยม คลั่งไคล้แบรนด์เนม สถานะความร่ำรวยมั่งคั่ง