วัยรุ่นไทย-วัยทำงานช่วงแรกๆ ฆ่าตัวตาย-ทำร้ายตัวเองพุ่งสูง 4 เท่า จากไปกว่า 400 ราย

498
0
Share:
สังคม

คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เปิดเผยว่าสถานการณ์สุขภาพจิตของวัยรุ่นในประเทศไทย โดยข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต พ.ศ. 2560-2564  พบว่า อัตราผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ และทำร้ายร่างกายตนเองในวัยเรียน และในวัยทำงานตอนต้น หรือช่วงอายุ 15-34ปี มีเพิ่มมากขึ้นกว่าวัยทำงานที่อายุเกิน 34 ปีขึ้นไป สูงถึง 4 เท่า สำหรับอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในกลุ่มวัยเรียนอายุ 15-24 ปีเมื่อปี 2563 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 428 คน และในปี 2564 มีจำนวนเสียชีวิต 439 คน ส่วนกลุ่มวัยทำงานตอนต้นที่อยู่ในช่วงอายุ 25-34 ปี  พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในปี 2564 จำนวน 956 คน มากกว่า ปี 2563 จำนวนที่ 896 คน

นอกจากนี้ ในปี 2564 พบว่า คนไทยมีอัตราความเครียดสูงนำไปสู่การฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 7.8 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นกว่า 5,000 คน

คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เปิดเผยว่าแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลคู่เครือข่ายพื้นที่ร่วมกับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อร่วมดูแลเด็กวัยเรียนในสถานศึกษา  ช่วยเหลือส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสภาพจิตใจ ส่งมายังสถานพยาบาล ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติได้ประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพิ่มขยายสิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคจิตเภทให้ครอบคลุมมากขึ้น  โดยปรับเพิ่มค่าเหมาจ่ายมากขึ้น และช่วยประสานให้การรักษาดูแลผู้ป่วยครอบคลุมทั้ง 3 สิทธิการรักษา

สปสช. เปิดเผยข้อมูลในปี 2564 เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเภทอยู่ที่ 6,000 บาทต่อราย จำนวนผู้ป่วย 12,000 รายต่อปี รวม  72,000 คน  พบผู้ป่วยอาการกำเริบซ้ำมีสัดสัดส่วนลดลงจาก 26%  เหลือ 12 %  และลดค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาล 16,700 บาทต่อราย

พญ.อัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด19 จะทำให้คนไทยมีความเครียดสูงแต่จากติดตามพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จยังคงอยู่ที่ 7.8 คนต่อประชากร 100,000 คน ทั้งนี้ รายงานจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จในระหว่างปี 2560 – 2564 พบว่าแนวโน้มที่สูงขึ้น คือกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว กรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจถึงความต้องการในการดูแลช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตนักศึกษา สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

พบข้อมูลที่น่าสนใจถึงความต้องการของวัยรุ่นเหล่านั้นว่า ต้องการให้มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถาบัน  เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในมหาวิทยาลัย การคัดกรอง เครื่องมือประเมิน การให้คำปรึกษาช่องทางต่างๆ ที่สะดวก การดูแลช่วยเหลือติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ยังต้องการให้สถานศึกษาสามารถประสานกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ได้รับการสนับสนุนนโยบาย งบประมาณและแหล่งทุน