วานนี้ 27 เมษายนเกือบ 3 ทุ่ม คนไทยแห่ใช้ไฟฟ้าทะลุสูงสุดระหว่างวันเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่

96
0
Share:
วานนี้ 27 เมษายนเกือบ 3 ทุ่ม คนไทยแห่ ใช้ไฟฟ้า ทะลุสูงสุดระหว่างวันเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 เวลา 20.51 น. ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก (Peak) ในระบบทั้ง 3 การไฟฟ้าในประเทศไทยมีค่าเท่ากับ 36,356.1 เมกะวัตต์ ส่งผลทำสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบ (System Peak) ครั้งประวัติศาสตร์ในไทย โดยทำลายสถิติสูงสุดในระบบ (System Peak) ครั้งประวัติศาสตร์ในไทยเดิมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 20.58 น. มีค่าเท่ากับ 35,830 เมกะวัตต์

สำหรับการใช้ไฟฟ้าพีกในประเทศไทยในเดือนเมษายน 2567 เกิดขึ้นทั้งหมด 6 ครั้ง ดังนี้
วันที่ 1 เมษายน 2567 เวลา 21.00 น. มีค่าเท่ากับ 33,340.1 เมกะวัตต์
วันที่ 2 เมษายน 2567 เวลา 20.51 น. มีค่าเท่ากับ 33,827.1 เมกะวัตต์
วันที่ 4 เมษายน 2567 เวลา 21.00 น. มีค่าเท่ากับ 34,196.5 เมกะวัตต์
วันที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 22.22 น. มีค่าเท่ากับ 34,277.4 เมกะวัตต์
วันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 20.54 น. มีค่าเท่ากับ 34,656.4 เมกะวัตต์
วันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 20.58 น. มีค่าเท่ากับ 35,830 เมกะวัตต์

นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้าพีกครั้งแรกที่เกินกว่าระดับ 30,000 เมกะวัตต์ ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 19.26 น. โดยมีเท่ากับ 30,849.90 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 19.47 น. มีค่าเท่ากับ 32,704 เมกะวัตต์

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานชาติ (สนพ.) คาดว่า ค่าไฟพีกสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 35,000-36,000 เมกะวัตต์ รวมถึงประเมินว่า ปี 2567 จะมีแนวโน้มการใช้ไฟอยู่ที่ 210,170 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (GWh) หรือเพิ่มขึ้น 3.1% จากปี 2566 ซึ่งไฟพีกสูงสุดในระบบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. มีค่าเท่ากับ 34,130.50 เมกะวัตต์

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าใช้ไฟฟ้าสูงสุดระหว่างวัน หรือค่าไฟพีก(Peak)ของประเทศไทยเปลี่ยนช่วงเวลาจากปกติในเวลากลางวันช่วงบ่ายมาเป็นเวลากลางคืน สาเหตุมาจากปริมาณการใช้ไฟในภาคครัวเรือนเกิดการเปลี่ยนแปลง คือ ปริมาณหรือจำนวนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีเพิ่มขึ้น ปี 2566 มีการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 100,219 คัน เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากปี 2565 ผู้ใช้รถอีวีส่วนใหญ่นิยมชาร์จไฟฟ้าในตอนกลางคืนหลังกลับจากที่ทำงาน

การติดแผงโซลาร์เซลล์ของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้โรงงานผลิตที่ติดแผงโซลาร์เซลล์ดึงพลังไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์มาใช้ในเวลากลางวันแทนการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากหน่วยงานการไฟฟ้า เพื่อลดการจ่ายค่าไฟฟ้าในเวลากลางวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอัตราค่าไฟสูงมาก โรงงานผลิตจึงเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าจากสายส่งในเวลากลางคืน เพราะระบบแผงโซลาร์ที่ติดไม่ได้มีระบบกักเก็บพลังงานไว้ สำหรับใช้ในเวลากลางคืน จึงต้องหันกลับไปใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าแบบเดิม

ซึ่งข้อสังเกตนี้ สะท้อนมาจากปัจจุบันมีการขอใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์เพิ่มขึ้นมากจากก่อนหน้านี้จากเดิมมีจำนวนผู้ขอติดตั้งปีละ 100 กว่าราย แต่ปัจจุบันเฉลี่ยเดือนละกว่า 100 ราย ทำให้ในปี 2567 คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากกระทรวงอุตสาหกรรมปลดล็อกการขอใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์จากเดิมที่กำลังผลิตมากกว่า 1,000 หน่วยขึ้นไปต้องขอใบอนุญาต ซึ่งซับซ้อนและใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันไม่มีการจำกัดกำลังผลิตไฟฟ้าอีกต่อไป

ทั้งนี้ ในอดีตผ่านมา ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีกในประเทศไทยจะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวัน ประมาณ 14.00-15.00 น. ของวัน และมักจะเกิดในหน้าร้อน ประมาณ เมษายน-พฤษภาคมของปี แต่ปรากฏว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดกลับเปลี่ยนแปลงไปเป็นช่วงเวลากลางคืนแทน โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 21.41 น. ที่ 34,827 เมกะวัตต์