“วิษณุ เครืองาม”ย้ำหากคิดว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ ควบคุมโควิดได้ ก็ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้

730
0
Share:

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว จะสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทนได้หรือไม่ ว่า ต้องไปประเมินกันเอง เพราะได้แนะนำไปหลายแนวทาง โดยจะต้องไปพูดคุยกับฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ที่ผ่านมาฝ่ายสาธารณสุขก็ระบุเรื่องความยุ่งยากหลายอย่างหากไม่มี พรก.ฉุกเฉิน และได้ยกตัวอย่างกรณีแรงๆ หลายกรณีเหมือนกัน ตนก็บอกว่า ไม่ทราบเพราะไม่เคยเจอ จึงแนะนำให้ลองไปคิดเองว่า กระทรวงสาธารณสุขสามารถมีความพร้อมขนาดไหนในการเผชิญปัญหา
.
หากให้เครื่องบินและนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ไม่ว่าจะมาแบบ Travel Bubble หรือจะเป็นคนไทยก็ตาม หากเราเกิดความสงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ คำถามคือ 1.อำนาจที่จะสั่งให้เข้าสู่สถานกักตัวของรัฐนั้นมีหรือไม่ // 2.ให้ไปกักตัวที่ไหน // 3.ใครเป็นคนสั่ง และ 4.ค่าใช้จ่ายที่ใช้ ตรงนี้ก็ต้องหาคำตอบ หากแก้ปัญหาได้ก็วางใจได้ แต่หากยังติดปัญหาอยู่ก็คิดกันอีกครั้ง
.
ส่วนกฎหมายที่จะมาแทน พรก.ฉุกเฉินขณะนี้มีเพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อ เท่านั้น ซึ่งมีอำนาจน้อย เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นกฎมายที่ออกแบบมาเพื่อรับมือการระบาดแบบ Epidemic หรือ ระดับโรคระบาดทั่วไป ไม่ใช่สำหรับ Pandemic หรือ การระบาดใหญ่ แต่ก็สามารถใช้ได้ ทุกวันนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลงแล้ว แต่เป็นเรื่องที่เรากลัวเรื่องในอนาคตเท่านั้นเอง ถ้าเป็นที่วางใจอย่างวันนี้ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 22 วันแล้ว ก็ถือว่าน่าอุ่นใจ กว่าจะถึงปลายเดือนนี้ก็ไม่มีติดต่อกัน 30-40 วันแล้ว
.
พร้อมได้พูดย้ำหลายครั้งแล้วว่า ที่กลัวกันคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศนั้นทำให้เกิดอำนาจตามมาตรา 9 ที่สามารถออกข้อกำหนดได้ 6 เรื่อง ซึ่งถ้าเราไม่ใช้ 6 เรื่องนี้ ข้อกำหนดนั้นก็จะไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชน แต่จะเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ และ พรก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดเหตุ 2 ประการ
.
1. ส่วนที่บังคับใช้กระทบกับประชาชน คือ มาตรา 9
.
2. ส่วนที่บังคับใช้แล้วไม่กระทบกับประชาชน คือ มาตรา 7 ที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่นอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคเป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข หากเราสามารถทำงานแบบบูรณาการ ตำรวจ ทหาร พลเรือน และ อสม. มาร่วมทำงานด้วย คนเหล่านั้นทำงานด้วยความเชื่อมั่น ไม่เกรงกลัวอะไร ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถออกคำสั่งโดยไม่ต้องวิตกมากนักว่าพอสั่งไปแล้วมีคนไปร้องศาลปกครอง จนต้องหยุดคำสั่งไป หากเป็นอย่างนี้ก็จะเดินหน้าใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้
.
.