ศบค.เปิดไทม์ไลน์ผู้เสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 2 รายแรกของไทย

395
0
Share:
โควิด

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนมี 2 รายแรกของประเทศไทย เป็นเพศหญิงทั้งคู่ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว โดยมีรายหนึ่งที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 2 เข็ม ส่วนอีกรายไม่ได้รับวัคซีน

สำหรับรายแรก เป็นหญิงอายุ 86 ปี ผู้ป่วยติดเตียงและเป็นอัลไซเมอร์ ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 2 เข็ม ซึ่งติดเชื้อจากหลานชายที่เป็นผู้ป่วยยืนยันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดภูเก็ต โดยได้มีไทมไลน์ดังนี้

6 ม.ค. 65 ผู้ป่วยมีไข้ มีเสมหะ ทราบว่าลูกสาวตรวจพบเชื้อโควิด ซึ่งหลานสาวผู้ป่วยเป็นแพทย์ ตรวจหาเชื้อด้วย ATK มีผล positive จึงส่งต่อเข้ารับการรักษาที่ รพ.หาดใหญ่

7 ม.ค. 65 ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่ รพ.หาดใหญ่ แพทย์เก็บตัวอย่าง NPS ส่งตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการ รพ.หาดใหญ่ ผลพบเชื้อโควิด โดยผู้ป่วยมีไข้ 38.5 องศา ไอ หายใจลำบาก แพทย์รับไว้ที่แผนก CICU เอ็กซเรย์ปอด พบปอดอักเสบ จ่ายยา Dexamethasone และ Remdesivir

12 ม.ค. 65 ผู้ป่วยเสียชีวิต เวลา 09.20 น. ส่งตัวอย่างตรวจยืนยันสายพันธุ์ ผลพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

.
สำหรับรายที่ 2 เป็นเพศหญิง อายุ 84 ปี ภูมิลำเนา อ.กุดจับ จ.อุดรธานี มีโรคประจำตัวเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายและเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีประวัติได้รับวัคซีน มีประวัติเสี่ยงจากครอบครัวเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยได้มีไทม์ไลน์ ดังนี้

9 ม.ค. 65 ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR เนื่องจากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากลูกชายที่ติดเชื้อโควิด-19

10 ม.ค.65 ผลตรวจพบเชื้อ แต่ผู้ป่วยและญาติปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษาในรพ. แพทย์จึงอนุญาตให้เข้าระบบ Home Isolation โดยได้จ่ายยาฟาร์วิพิราเวียร์ ตามแผนการรักษาและจัดเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย และออกซิเจนปลายนิ้ว โดยออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ระหว่าง 86-90% ไม่มีไข้ ผู้ป่วยไม่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่หอบ

11-12 ม.ค.65 ออกซิเจนปลายนิ้ว อยู่ระหว่าง 86-90% ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย

13-14 ม.ค.65 ผู้ป่วยรับประทานได้น้อยลง ไม่มีหายใจหอบ ไม่มีไข้ ออกซิเจนปลายนิ้วที่ 86-87%

15 ม.ค.65 ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบ ค่าออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 76% ประสานผู้ป่วยนำส่งรพ. แต่ญาติยังปฏิเสธการรับการรักษาใน รพ. แพทย์ให้เพิ่มยาฟาร์วิพิราเวียร์จาก 5 วัน เป็น 10 วัน และเพิ่มมอร์ฟีนให้เนื่องจากยาเดิมหมด จากนั้นเวลา 16.00 น. ผู้ป่วยตอบสนองได้น้อยลง หายใจหอบลึก และคลำชีพจรไม่ได้ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลา 19.45 น. รวมระยะเวลารักษา 6 วัน