‘ศิริราช’ชี้ทั่วโลกยังเผชิญขาขึ้นจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอน อนาคตจะมีโรคระบาดใหม่มาอีก

406
0
Share:
โควิด

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงสถานการณ์ว่าจากการติดตามสายพันธุ์โอไมครอนตลอด 2 เดือนที่มีการระบาดนั้น พบว่าภาพรวมแต่ละภูมิภาคของโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากโอไมครอน โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้เดลต้า กลายเป็นส่วนน้อย มีเพียงแอฟริกาที่ดูเหมือนผ่านจุดสุดยอดไปแล้ว อยู่ในช่วงขาลง

ซึ่งการติดเชื้อของสายพันธุ์โอไมครอนถือว่าสูงกว่าระลอกที่ผ่านๆ มา ถึงวันละ 2-3 ล้านคน แสดงว่าแพร่กระจายเยอะ ส่วนอัตราเสียชีวิต ช่วงของเดลต้าพบประมาณ 5-9 พันคนต่อวัน บางช่วงแตะถึงหมื่นคนต่อวัน พอเป็นโอไมครอนเสียชีวิตประมาณ 4-8 พันคนต่อวัน แต่ถ้าเทียบสัดส่วนของจำนวนการติดเชื้อ ก็ถือว่าอัตราส่วนลดลง ไม่ได้พุ่งตามลักษณะการติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้ว 9.9 พันล้านโดส จากประชากรราว 8 พันล้านคน ฉีดวันละ 36 ล้านโดส เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตจึงลดลงชัดเจน

สำหรับประเทศไทย จากที่ได้เผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่ได้ติดเชื้อพุ่งถึง 2 หมื่นกว่าคนต่อวัน แต่สายพันธุ์โอไมครอนได้ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเป็น 7-8 พันคนต่อวัน แต่อัตราเสียชีวิตไม่ถึง 20 ราย จึงได้หวังว่าตัวเลขจะค่อยๆ ลงไป ส่วนวัคซีนฉีด 111 ล้านโดส จากประชากร 70 ล้านคน ถือว่าไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นในภาพรวมของการบริหารจัดการโควิด ยืนยันว่าโอไมครอนได้แพร่เร็วกว่าเดลต้า เพราะแม้ปริมาณเชื้อไม่เยอะแต่ก็แพร่ได้เร็ว ส่วนอาการรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ไม่ได้แปลว่าไม่รุนแรง โดยมีอัตรานอน รพ.น้อยกว่าเดลต้า 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2

ดังนั้น ความจำเป็นในการรักษา ไทยจึงเน้นไม่มีอาการให้กักตัวอยู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องในอยู่ใน รพ. ส่วนที่ทำให้รุนแรงน้อย ซึ่งเราไม่สามารถแยกสายพันธุ์จากอาการได้ แต่โอไมครอนส่วนใหญ่ที่เราจะเจอ คือ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อย เจ็บคอ ส่วนการไม่ได้กลิ่นไม่รับรสพบไม่มากเท่าเดลต้า คาดว่าภายในปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้าก็น่าจะเป็นโอมิครอนเกือบทั้งไทย

อย่างไรก็ตาม อย่าคิดว่าโอมิครอนไม่รุนแรงแล้วคิดจะไปติดเชื้อโดยไม่ต้องฉีด อย่าคิดอย่าทำเด็ดขาดยังบอกไม่ได้ว่าได้เชื้อเข้าไปจะรอดหรือไม่รอด โอกาสรุนแรงก็มี และอาจเอาเชื้อไปให้ผู้ใหญ่ที่บ้านที่ไม่แข็งแรง หากเกิดอะไรขึ้นอาจจะเสียใจ การเพิ่มภูมิที่ดีที่สุดคือฉีดวัคซีน

สำหรับการฉีดวัคซีนครบโดส มีการพูดว่าอาจไม่ใช่การฉีด 2 เข็ม แต่เป็นการฉีดเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ซึ่งโอไมครอนฉีดสองเข็มเป็นพื้นฐานไม่เพียงพอ เนื่องจากหลบภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและการติดเชื้อได้ดีกว่า แต่พอฉีดเข็มสามค่อนข้างดี ขึ้นไปที่ 55-80% จึงจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น ระยะห่างจากเข็มสอง 3 เดือน แต่ยังไม่มีหลักฐานใดว่าต้องจะฉีดต่อไปทุก 3-6 เดือน ยังไม่ต้องคิดแบบนั้นว่าต้องมาฉีดเข็ม 4 เข็ม 5  เว้นบุคลากรที่เสี่ยงมากจริงๆ ต้องฉีดเข็มสี่

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โลกได้เจอการระบาดใหญ่ Pandemic มา 5 รอบ คือ ปี 2002 เจอซาร์ส ปี 2009 หวัดหมู ปี 2012 เมอร์ส ปี 2015 เจอซิกา และปี 2019 เจอโควิด โลกยังมีโอกาสเจอการแพร่ระบาดเช่นนี้อีก เพราะสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมแยกจากกันไม่ได้ อย่างโลกร้อนขึ้น ก็มีโอกาสเจอเชื้อใหม่ๆ ดังนั้น การใช้ชีวิตเราไม่ได้กลับมาปกติเหมือนก่อนแพร่ระบาด แต่เป็นปกติรูปแบบใหม่ คือ ใช้ชีวิตที่พร้อมถ้าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคใหม่ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาวะตัวเราเอง อย่างเราล้างมือบ่อยขึ้นก็อย่าถอยกลับไปเหมือนเดิม เราปรับตัวมา 2 ปีกว่าก็รักษาสิ่งเหล่านี้ เมื่อแพร่ระบาดใหม่ก็ป้องกันตัวเองได้จากการมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น ทำจนปกติรูปแบบใหม่ เจออะไรอยู่ร่วมกับมันได้ หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ การรักษาก็ไม่ต้องไป รพ. ทั้งนี้ขออย่าเพิ่งเร็วเกินไปที่เอาการ์ดลง ยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่ต้องการ์ดสูง ต่างชาติคิดว่าโควิดอาจอยู่กับเราถึงกลางปีหรือปลายปี แต่ก็อาจมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปได้อีก ขอย้ำว่าต้องรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ จำเป็นรับเข็ม 3 ใครยังไม่ฉีดให้รีบมาฉีด