ศูนย์จีโนมฯ ชี้จับตาโควิดลูกผสมโอไมครอน ‘สายพันธุ์ BA.1+BA.2’ อาจแพร่เร็วพุ่ง 126%

569
0
Share:

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการพบสายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน” ระหว่างเดลตาและโอไมครอน กับลูกผสมโอไมครอนด้วยกันระหว่าง BA.1 และ BA.2 ว่า ขณะนี้ส่วนใหญ่พบเดลตาครอนในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ส่วนอังกฤษมีบ้าง จากข้อมูลยังไม่พบการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คนที่ติดไม่มีอาการรุนแรง ไม่ต่างจากทั่วไป

และในฐานข้อมูลกลางโลก (GISAID) พบสายพันธุ์เดลตาครอนในแต่ละพื้นที่ เปรียบเหมือนเด็กที่เกิดมาเป็นเด็กไม่แข็งแรงสมบูรณ์หรือพิการ เพราะฉะนั้นก็จะแพร่ระบาดสืบทอดลูกหลานได้ไม่ดี ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกก็ไม่ได้จัดให้อยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) เพียงแต่ออกมาเตือนล่วงหน้าว่ามีสายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้น เพื่อให้ระมัดระวัง

สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่เป็น “โอไมครอน” อาจจะเกิดเดลตาครอนได้ยาก หากจะมีเกิดขึ้นน่าจะเป็นการนำเข้าจากประเทศอื่นมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเกิดประเทศใดก็ตาม หากมีการระบาดก็สามารถแพร่กระจายได้ทั่วโลก แม้แต่จีนที่มีการล็อกดาวน์เชื้อก็ยังหลุดเข้าไปได้ผ่านสิ่งของวัสดุ เพราะเชื้อไวรัสอยู่บนพื้นผิวได้ 7-8 วันเป็นธรรมชาติ แม้จะควบคุมอย่างไรก็สามารถหลุดเข้าไปได้ เพราะไวรัสเป็นนักฆ่าเพื่อความสมดุล

ส่วนลูกผสมโอไมครอนระหว่าง BA.1+BA.2 น่าจับตามากกว่า เบื้องต้นคำนวณคร่าวๆ จากรหัสพันธุกรรมที่ถอดได้กับระยะเวลาที่พบเชื้อ พบอัตราการติดเชื้อที่แพร่ได้มากขึ้นจาก BA.2 ในสัดส่วน 126% แต่การคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ในธรรมชาติหรือหน้างานต้องใช้เวลาศึกษาต่อไป

ซึ่งนอกจากอิสราเอลได้พบสายพันธุ์นี้ ยังได้มีรายงานการพบในอังกฤษและไอร์แลนด์ 267 ราย เท่าที่ดูข้อมูลรหัสพันธุกรรมยังไม่มีการนำส่วนสำคัญที่สร้างโปรตีนหนามมาแลกเปลี่ยนกันเป็นลูกผสม ความรุนแรงก็อาจจะยังไม่ต่างจากสายพันธุ์ย่อยโอไมครอน โดยพิจารณาหากผสมกันแล้วมีอัตราการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเหนือกว่าตัวอื่นอย่างมากจนชนะ

ทั้งนี้ WHO ได้ออกมาเตือนถึงการมองโอไมครอนจะเป็นสายพันธุ์สุดท้าย ทำให้คนการ์ดตก หรือมองว่ากำลังจะเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งมองว่าน่าจะมีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้มากกว่าโอไมครอนที่อาจจะเป็นการระบาดระลอกที่ 6 ซึ่งโอไมครอนกลายพันธุ์ไปจากอู่ฮั่นประมาณ 100 ตำแหน่ง ตัวที่ 6 จะต้องกลายพันธุ์มากกว่าโอไมครอนหลายตำแหน่ง แต่จะร้ายกาจรุนแรงหรือไม่ยังไม่รู้ ลูกผสม BA.1+BA.2 เป็นแคนดิเดตหนึ่งที่ต้องจับตา สำหรับไทยที่ศูนย์จีโนมฯ ยังไม่พบลูกผสม BA.1+BA.2 แต่หากพบก็ไม่น่าประหลาด เพราะไวรัสสามารถแพร่มาได้ทุกทางหากการ์ดตก จึงต้องพยายามฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม