ศูนย์จีโนมฯ เตือนโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม BA.2-BA.1.1 พบกลายพันธุ์ถึง 100 ตำแหน่ง

424
0
Share:

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี Center for Medical Genomics โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่ามีรายงานด่วนจาก”เบลเยียม” แจ้งว่ามีเกิดการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.1.1, และ BA.2 พร้อมกันมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 (ภาพ 1) อันน่าจะเป็นเหตุให้ตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสมที่แพร่กระจายอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้ดาวน์โหลดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของสายพันธุ์ลูกผสมจากเบลเยียมมาจากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” จำนวน 22 ตัวอย่างมาวิเคราะห์ พบว่ารหัสพันธุกรรมคล้ายกับโอไมครอน ไม่สามารถจำแนกหรือระบุสายพันธุ์ได้ด้วย“แอปพลิเคชัน Pangolin (Pango v.3.1.20 2022- 02-28)” แต่จากการวิเคราะห์เชิงลึกด้วย

“แอปพลิเคชัน Nextclade” พบว่าไวรัสในคลัสเตอร์นี้จีโนมส่วนใหญ่มาจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2” แต่มีส่วนน้อยได้รับมาจากยีน “ORF1a (2832-10029)” และ “ORF1b(160464-18163)” ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1.1 เข้ามาร่วมผสมเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์แบบก้าวกระโดด (ภาพ 2) เพราะเดิม ฺBA.2 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.1 อยู่ 10 ตำแหน่ง และ BA.1 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.2 อยู่ 13 ตำแหน่ง (ภาพ 3) เมื่อมาผสมรวมกันส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นถึง 100 ตำแหน่ง และต่างจาก BA.2 ประมาณ 30 ตำแหน่งอันน่าจะเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ไปมากที่สุดในขณะนี้

อาศัยการคำนวณจากรหัสพันธุกรรมและช่วงเวลาที่ตรวจพบ พบว่าสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage นี้มี “growth advantage” หรือความสามารถในการแพร่ระบาดเหนือกว่า BA.2 ประมาณ 0.47 เท่า (47%) ซึ่งไม่มากนัก ยังไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยาว่าสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage แพร่ติดต่อได้รวดเร็วกว่า BA.2 กี่ %

ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage มีอาการรุนแรงมากกว่าหรือน้อยกว่าสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ BA.1, BA.1.1, BA.2 การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันหรือการด้อยประสิทธิภาพวัคซีนไม่น่าจะแตกต่างจาก BA.2 เพราะไม่พบการกลายพันธุ์จำนวนมากบนจีโนมในส่วนของ “ยีน S” ที่ควบคุมการสร้างส่วนหนาม

จากการสแกนหาในฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยจัดเก็บรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่เริ่มการระบาดจนถึงปัจจุบันจำนวนกว่า 9.63 ล้านตัวอย่าง ยังไม่พบ BA.2/BA.1.1 recombined linage ในประเทศไทย

ในอนาคตอันใกล้หากมีความจำเป็นต้องตรวจกรองลูกผสม “BA.2 + BA.1.1” เป็นจำนวนมากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯสามารถพัฒนาชุดตรวจ “Mass Array Genotyping” มาตรวจสอบรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ลูกผสมได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงด้วยเวลาที่สั้นกว่าและค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม โดยใช้เวลาในการพัฒนาการตรวจไม่เกิน 2 สัปดาห์