ศูนย์วิจัยกรุงไทยมองขึ้นค่าแรง ดันต้นทุนยันเงินเฟ้อขึ้น แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจ

298
0
Share:
ศูนย์วิจัยกรุงไทย มองขึ้น ค่าแรง ดันต้นทุนยัน เงินเฟ้อ ขึ้น แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจ

Krungthai COMPASS เป็นศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงประมาณ 4.5-6.6% จะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตจะปรับตัวขึ้นประมาณ 0.69-1.01% ขณะที่เงินเฟ้ออาจสูงขึ้น 0.13-0.20% ในปี 2023 เนื่องจากการขึ้นค่าจ้างจะกดดันต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อ แต่อาจไม่กระทบ GDP เพราะผลสุทธิได้รับการชดเชยด้วยปัจจัยบวกจากผลทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 13 ก.ย. 2022 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2022 นี้ ถือเป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีหลังจากประกาศครั้งล่าสุดที่มีผลเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นในช่วง 4.5-6.6%

หากเทียบกับการปรับค่าแรงขึ้นต่ำครั้งก่อนหน้า การปรับรอบนี้ถือเป็นการปรับขึ้นสูงสุดในช่วงเกือบสิบปีนับตั้งแต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเมื่อปี 2012 แต่การปรับในครั้งนั้นถือเป็นการปรับแบบก้าวกระโดดที่ส่งผลให้ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินเพิ่มถึง 39.5% ขณะที่การปรับอีก 2 ครั้งในปี 2017 และ 2018 จะปรับขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า 5%

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างที่เป็นตัวเงินโดยเฉลี่ยในตลาดแรงงานจะถูกกำหนดโดยกลไกตลาดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการจ้าง โดยเฉพาะในช่วงปี 2015-2017 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ กระทั่งในปี 2020 ที่มีการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้าง

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมิได้ทำงานแต่ยังได้รับการรักษาสถานภาพการจ้างงาน ส่งผลให้ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินลดลงในช่วงกลางปีและค่าจ้างเคลื่อนไหวผันผวนตามการระบาดหลายระลอกหลังจากนั้น ปัจจัยบวกจากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลให้ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2021 แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังมิได้เปลี่ยนแปลงก็ตาม

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้ค่าตอบแทนของแรงงานทั้งระบบปรับตัวเพิ่มจากเดิมและยังหนุนให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย เมื่อเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของค่าจ้างที่เป็นตัวเงินโดยเฉลี่ยต่อเดือนกับการบริโภคภาคเอกชนย้อนหลังในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า การบริโภคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวสูงขึ้นของค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ย

แต่การแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ในปี 2020 กดดันการบริโภคภาคเอกชนให้ปรับตัวลดลงและมีผลเชิงลบต่อค่าจ้างเฉลี่ย การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

แม้ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะหนุนให้ค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่สูงขึ้น แต่ในทางกลับกันรายจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มอาจดึงเงินเฟ้อขึ้น

สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการนั้น คาดว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะกระทบต่อภาคการผลิตที่พึ่งพาแรงงานค่าจ้างต่ำ และมีภาระรายจ่ายค่าจ้างต่อต้นทุนในสัดส่วนที่สูง การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้กิจการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น