ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารไทยพาณิชย์ มองเงินเฟ้อจากน้ำมันแพง กดดันเศรษฐกิจไทย

354
0
Share:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ EIC ธนาคาร SCB เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนก.ย. ของไทย ฟื้นตัวจากช่วงสองเดือนที่ผ่านมาตามการแพร่ระบาด COVID-19 ของโลกที่ปรับดีขึ้น แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานยังเป็นปัจจัยกดดันที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป

มูลค่าการส่งออกเดือนกันยายน ขยายตัว 17.1% เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ขยายตัวต่อเนื่องในทุกสินค้าและตลาดสำคัญ ยกเว้นตลาดออสเตรเลียที่หดตัวเล็กน้อยจากทองคำ โดยหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล การส่งออกขยายตัวที่ 4.2% เทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ ตามสถานการณ์การระบาด COVID-19 ของโลกที่ปรับดีขึ้นชัดเจนในช่วงเดือนก.ย. ส่งผลให้อุปสงค์มีการฟื้นตัว อีกทั้ง ผลกระทบจากการหยุดผลิตที่เกิดจากการระบาด COVID-19 ก็ปรับดีขึ้นเช่นกัน

แม้การส่งออกจะฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ปรับดีขึ้น แต่จะยังเผชิญกับปัจจัยกดดันใหม่ในช่วงที่เหลือของปีจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานที่นำไปสู่การเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานปรับชะลอลงในระยะสั้น โดยคาดว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยังต้องจับตาเศรษฐกิจจีนที่มีความเสี่ยงจากวิกฤตพลังงานและภาคอสังหาริมทรัพย์จากกรณี Evergrande ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปีได้

EIC ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2021 ที่ 15% เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว เนื่องจากข้อมูลการส่งออกล่าสุดยังสอดคล้องกับคาดการณ์เดิมที่มองไว้ว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะฟื้นตัวจากช่วงเดือนกรกฏาคม-สิงหาคมที่เป็นช่วงที่มีการระบาดหนักของสายพันธุ์เดลตาทั่วโลก แต่ระดับจะไม่ได้สูงเทียบเท่ากับในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ในส่วนของปี 2022 การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7% ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้การส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา จะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีหน้าตามการเร่งตัวของเศรษฐกิจที่จะได้ผลดีจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น