สถาบันพระปกเกล้าเผยผลสำรวจประชาชนช่วงโควิด 19 พบส่วนใหญ่ไว้ใจผู้เชี่ยวชาญแก้ปัญหาโควิด 19 มากกว่านักการเมือง

655
0
Share:

สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักวิจัยและพัฒนา ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งส่งไปยังกลุ่มสังคมออนไลน์ผ่านสื่อต่าง ทั้ง Facebook และ Line และผู้ตอบเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและเป็นผู้ที่ใช้การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิคส์เท่านั้น ตั้งแต่ 3 พ.ค. ถึง 13 พ.ค 2563 จำนวน 1,338 คน
.
พบว่าด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จากสื่อโทรทัศน์มากที่สุด (ร้อยละ 33.6) รองลงมาคือ ทาง Facebook (ร้อยละ 23.9) และ จากบุคลากรสาธารณสุข (ร้อยละ 15.7)
.
ด้านรูปแบบการทำงาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการปรับเปลี่ยนวิธีทำงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 โดยพบว่า ไปทำงานทั้งที่ทำงานและที่บ้านสลับกันมากที่สุด (ร้อยละ 44.2) รองลงมา คือ ไปทำงานที่ทำงานทุกวัน (ร้อยละ 32.1) และ ทำงานที่บ้านทุกวัน (ร้อยละ 23.7)
.
ด้านสถานภาพการทำงาน รายได้การออมเงิน และ สถานภาพเศรษฐกิจของครอบครัว
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงทำงานเดิม และยังคงรับเงินเดือน/มีรายได้เท่าเดิม (ร้อยละ 64.7) รองลงมา คือ
ยังคงทำงานเดิม แต่เงินเดือน/รายได้ลดลง (ร้อยละ 17.6) และเมื่อนำกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบทั้ง 3 กลุ่มมารวมกันได้แก่ ยังไม่มีงานทำ – ไม่สามารถประกอบอาชีพได้/ถูกเลิกจ้างและไม่มีรายได้ – หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างและไม่มีรายได้พบว่าสูงถึงร้อยละ 27.1
.
ด้านการออมเงิน: กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ระบุว่า ยังออมเงินได้ตามปกติ(ร้อยละ 30.6) รองลงมา คือมีเงินพออยู่ได้แต่ไม่มีเงินออม (ร้อยละ 28.8) และ ที่น่าสนใจคือ ต้องใช้เงินออมบางส่วนแต่ยังไม่ได้กู้ยืมเงิน (ร้อยละ 24.3) ไม่มีเงินออมและต้องกู้ยืมเงิน (ร้อยละ 8.2) และ ต้องใช้เงินออมบางส่วนและมีการกู้ยืม (ร้อยละ8.1)
.
ด้านรายจ่ายยังพบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 90.6 ต้องจ่ายเงินซื้อหน้ากากอนามัย //ร้อยละ 88.5 ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเจล/แอลกอฮอล์ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.9 มีการจัดการอาหารการกินของครอบครัว โดยมีการกักตุนวัตถุดิบไว้ล่วงหน้า ขณะที่ร้อยละ 12.3 สั่งอาหารสำเร็จให้มาส่งที่บ้าน
.
ด้านความไว้วางใจผู้นำในการแก้ไขปัญหา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ระบุว่า ไว้วางใจให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นเข้ามาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา (ร้อยละ 86.4) โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนน้อย ระบุว่า ไว้วางใจนักการเมืองให้เข้ามาเป็นผู้นำ(ร้อยละ 4.3) ใครก็ได้ (ร้อยละ 2.7) นักวิชาการ (ร้อยละ 2.6) และ ข้าราชการ (ร้อยละ 2.2)
.
เมื่อเกิดภาวะวิกฤต จะฝากอนาคตไว้กับใคร กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 41.8 ระบุว่า สามารถฝากอนาคตไว้กับผู้นำประเทศได้ // ร้อยละ 45.7 ระบุว่าฝากอนาคตไว้กับผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเองได้ // ร้อยละ 34.3 ระบุว่า ฝากอนาคตไว้กับผู้นำขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นได้
.
ด้านการตัดสินใจในชีวิตเมื่อให้กลุ่มตัวอย่างเลือกระหว่าง “ปากท้องกับปัญหาสุขภาพในภาวะวิกฤตินี้คนไทยจะเลือกอะไร” พบว่า โดยภาพรวมร้อยละ 61.4 ไม่เห็นด้วยว่า ปากท้องสำคัญมากกว่าสุขภาพ
.
ด้านความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาล โดยให้คะแนนความพึงพอใจจาก 0 ถึง 10 คะแนน พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่ง มีความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาล โดยร้อยละ 64.9 ให้คะแนนความพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลในระหว่าง 6 ถึง 10 คะแนน // ขณะที่ ร้อยละ 10.6 ให้คะแนนรัฐบาลคาบเส้นหรือห้าคะแนน และ ร้อยละ 23.9 ให้คะแนนรัฐบาลน้อยกว่า 5 คะแนน