สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยชี้ 9 ปี หนี้เกษตรกรพุ่งขึ้นกว่า 75% มีหนี้เฉลี่ย 450,000 บาท

252
0
Share:
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยชี้ 9 ปี หนี้เกษตรกร พุ่งขึ้นกว่า 75% มีหนี้เฉลี่ย 450,000 บาท

น.ส.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในงาน PIER Research Brief ครั้งที่ 4/66 เรื่องถอดบทเรียนการพักหนี้เกษตรกรไทย ว่า ปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทยต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากข้อมูลการสำรวจครัวเรือนเกษตรกรของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาจากเครดิตบูโร (NCB) ชี้ว่ากว่า 90% ของเกษตรกรไทยจำนวน 4 ล้านครัวเรือน มีหนี้เฉลี่ยมากกว่า 450,000 บาทต่อครัวเรือน

โดยแบ่งกลุ่มหนี้เกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ลูกหนี้ที่มีหนี้เสีย 13.2% 2.ลูกหนี้ปกติ 37.1% และ 3.ลูกหนี้เรื้อรัง 49.7% โดยในรอบ 9 ปี หนี้เกษตรกรโตถึง 75% ซึ่งเกษตรกรกว่า 50% มีแนวโน้มเป็นหนี้เรื้อรัง เพราะปริมาณหนี้สูงเกินศักยภาพ ทำให้การชำระหนี้ส่วนใหญ่จ่ายคืนได้เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น

ขณะที่ศึกษาผลกระทบของมาตรการพักหนี้เกษตรกร โดยใช้ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาของลูกหนี้ตัวอย่าง 1 ล้านคน สุ่มจากลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วงปี 2557-2566 พบตลอด 9 ปี มีการพักหนี้เกษตรกรมากถึง 13 มาตรการใหญ่ มีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และกว่า 42% อยู่ในมาตรการพักหนี้นานเกิน 4 ปี

โดยการพักหนี้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การพักหนี้แบบวงกว้าง เช่น โครงการเกษตรประชารัฐ และการพักหนี้แบบเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่เป็นการพักชำระเฉพาะเงินต้น และทำในวงกว้าง (opt out) ทำให้มีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งลูกหนี้ที่มีปัญหาและลูกหนี้ที่ยังสามารถจ่ายหนี้ได้ตามปกติ รวมถึงมาตรการพักหนี้ไม่มีเงื่อนไขช่วยให้ลูกหนี้รักษาวินัยในการชำระหนี้

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาพบว่ามาตรการพักหนี้เกษตรกรในอดีตไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน เห็นได้จากเกษตรกรที่เข้ามาตรการพักหนี้มียอดหนี้สูงขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เข้ามาตรการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดจาก 1. 77% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ ได้รับสินเชื่อใหม่ระหว่างการพักหนี้ และ 2. 50% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการขาดการจ่ายภาระดอกเบี้ยที่ยังเดินอยู่

นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้ามาตรการพักหนี้มีแนวโน้มเป็นหนี้เสียสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากวินัยทางการเงินที่ลดลง หรือเสียกำลังใจเมื่อเห็นยอดหนี้คงค้างปรับสูงขึ้นมาก อีกทั้งมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะกลับเข้าไปพักหนี้ซ้ำกลายเป็นติดกับดักหนี้ในที่สุด และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาแรงจูงใจของลูกหนี้ที่บิดเบี้ยว (moral hazard) ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นหากเกษตรกรเข้าร่วมมาตรการเป็นเวลานาน

โดยการพักหนี้ควรเป็นมาตรการระยะสั้น และใช้เฉพาะในสถานการณ์รุนแรง มีกลไกสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มยังรักษาวินัยในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่องต้องมีกลไกที่ทำให้ลูกหนี้ยังเลือกชำระหนี้อย่างมีวินัย ป้องกันไม่ให้เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ และไม่ควรใช้มาตรการพักหนี้เป็นเครื่องมือหลักในการช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงให้เกษตรกร เพื่อลดการพึ่งพิงมาตรการพักหนี้และป้องกันปัญหา moral hazard ซึ่งในอนาคตหากมีความเสี่ยงของการทำการเกษตรมากขึ้น ระบบประกันสินเชื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนกว่า