สนค.เผยหลังโควิดไทยเศรษฐกิจไทยทรุด ความเหลื่อมล้ำเพิ่ม สะท้อนกลุ่มยากจนกลับทำงาน 73%

273
0
Share:
สนค.เผยหลังโควิดไทย เศรษฐกิจ ไทย ทรุด ความเหลื่อมล้ำ เพิ่ม สะท้อนกลุ่มยากจนกลับทำงาน 73%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามผลกระทบจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า แม้จะมีการผ่อนคลายของสถานการณ์โควิด-19 ลงแล้ว แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกันในแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย กลุ่มเศรษฐกิจนอกระบบ และกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีความสามารถในการปรับตัวต่อบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้ต่ำกว่ากลุ่มที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป เนื่องจากลักษณะงานรวมถึงลักษณะของระบความคุ้มครองที่ไม่เอื้อต่อการปรับตัวหรือเปลี่ยนวิถีการทำงาน

ความท้าทายที่เกิดขึ้นมาจากความแตกต่างของอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประชากรแต่ละกลุ่ม ส่งผลให้อัตราการฟื้นตัวหรือความสามารถในการกลับมาทำงานและการฟื้นตัวของรายได้ให้กลับมาเท่าเดิม มีความแตกต่างกันออกไปในประชากรแต่ละกลุ่ม

โดยสาเหตุที่ทำให้บางกลุ่มสามารถฟื้นฟูกลับมาทำงานได้รวดเร็วรวมถึงรายได้กลับมาเท่าเดิมได้ เป็นผลมาจากความสามารถที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนวิถีการทำงานที่แตกต่างกัน อาทิ ความสามารถในการเปลี่ยนสถานที่ทำงานเพื่อรองรับการปิดเมือง การเข้าถึงเทคโนโลยี และความสามารถในการเปลี่ยนสายงาน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มที่จะมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนวิถีการทำงานที่ต่ำกว่าผู้มีรายได้สูง

ขณะเดียวกัน UNICEF ได้ทำการสำรวจการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ในปี 2565 โดยแบ่งกลุ่มประชากรตามรายได้ออกเป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กัน เรียงลำดับตามฐานะทางเศรษกิจตั้งแต่กลุ่มที่ยากจนที่สุดจนถึงกลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุด พบว่ากลุ่มที่ยากจนที่สุดและยากจน มีอัตราการกลับมาทำงานเพียง 62% และ 73% ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มรายได้สูงและรายได้สูงที่สุดที่มีอัตราการกลับมาทำงานมากกว่า 90%

สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีรายได้ต่ำกว่ายังขาดความสามารถในการหางานทดแทนหรือประกอบอาชีพใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น และการฟื้นตัวของรายได้ ที่เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถสะท้อนความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละกลุ่ม

เมื่อพิจารณาสัดส่วนของผู้ที่มีระดับรายได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นหลังจากการแพร่ระบาด พบว่าร้อยละ 28 ของกลุ่มที่ยากจนที่สุด จะสามารถกลับมามีรายได้เท่าเดิมหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นสะท้อนว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่ามีแนวโน้มที่จะมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต่ำกว่าอย่างมาก

แนวทางการแก้ปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน จำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการเพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพ ต้องทำต่อเนื่อง เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างช้า ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหลายกลุ่มยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย นโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพ จึงยังคงมีความสำคัญ และควรพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาและสนับสนุนเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น