สนพ.จ่อเปิดประชาพิจารณ์ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ากลางปีนี้ เอกชนหนุนยกเลิกระบบเอฟที 

145
0
Share:

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ปาฐกถาพิเศษ นโยบายด้านกิจการไฟฟ้าของประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP2024) ฉบับใหม่ ได้นัดประชุมคณะอนุกรรมการฯครั้งที่ 2ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 หากไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียด ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนร่างแผน PDP ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และระดับภูมิภาคในรูปแบบออนไลน์ 2ครั้ง ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศภายในช่วงไตรมาส2/2567

หลังจากนั้น จะนำเสนอร่างแผนPDP ฉบับใหม่ไปรวมในร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan)ที่มีอีก 4 แผนพลังงาน ประกอบด้วย แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ,แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ,แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาในช่วงไตรมาส 3/2567

นายวีรพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า โครงสร้างการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างชัดเจน เห็นได้จากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ที่เดิมจะเกิดขึ้นในช่วงกลางวันได้เปลี่ยนมาเป็นช่วงกลางคืน โดยพีคไฟฟ้าขึ้นทำลายสถิติทะลุระดับ 35,000 เมกะวัตต์ต่อเนื่องมา3วันติดแล้ว แต่ยังอยู่ในกรอบกำหนดไว้ 36,000 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศอยู่ที่ 53,000 เมกะวัตต์ ซึ่งลักษณะการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำเข้าไปประกอบการทำแผนPDPใหม่ด้วย

ทั้งนี้แผนPDPใหม่ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% เพื่อให้ไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค..2065 โดยที่สำคัญจะพยายามรักษาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน 20 ปี ให้อยู่ในระดับใกล้เคียง อัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน หรือประมาณกว่า 4 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ ในปี2568 สนพ.เตรียมจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของไทยใหม่ (2569-2573) ที่มีระยะดำเนินการทุก 5ปี โดยจะพิจารณาว่ามีปัจจัยใดเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ทั้งอัตราทั่วประเทศ(Uniform Tariff) ,สะท้อนรายได้ที่พึ่งได้รับแยกตามประเภทกิจการไฟฟ้า,คำนึงถึงต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพ,กำกับดูแลแบบจูงใจ,กลไกติดตามการลงทุนและบทปรับ และกลไกการชดเชยรายได้ เป็นต้น

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวเสวนาหัวข้อค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไรว่า ปัจจุบันไทยพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG )เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันราคาLNGค่อนข้างมีเสถียรภาพขึ้นอยู่ที่ 10 ดอลลาร์/ล้านบีทียู

ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าของไทยมีความสมเหตุสมผล และอยู่ระดับกลางๆเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน ซึ่งในอนาคตการวางแผนพลังงานมีความสำคัญ โดยค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริงและไม่ทำให้ระบบเกิดการบิดเบือน

ให้ความรู้ภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการนำเทคโนโลยีประหยัดไฟฟ้าเข้ามาใช้ และการเปิดเสรีไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้งการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการผลิตและการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบใหม่

ในอนาคตโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทย ควรพิจารณาว่าจะยังคงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งาน(TOU) ที่เน้นให้ใช้ไฟในช่วงกลางคืน ซึ่งมีการนำมาใช้นานมากแล้ว ว่าควรยกเลิกหรือไม่ ภายหลังจากพีกไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นช่วงกลางคืนแล้ว

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) กล่าวว่า ข้อเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้านั้น ควรเริ่มประกาศใช้ TPA-Third Part Access และกำหนดอัตรา Wheeling Charge ที่เหมาะสม และเตรียมการสำหรับ Direct PPA โดยไม่ชักช้า ,ภาครัฐควรตั้งงบประมาณอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น ในส่วนไฟสาธารณะ เงินอุดหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้า 3จังหวัดชายแดนใต้และสงขลา และอื่นๆ เป็นต้น ตลอดจนปรับการอุดหนุนค่าไฟฟรีให้กลุ่มคนจนแท้จริง เพื่อไม่ให้อัตราค่าไฟสูงเกินไป

ขณะที่โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนด้านเศรษฐกิจฐานราก สิ่งแวดล้อม และการลดก๊าซเรือนกระจกของพลังงานสะอาดแต่ละประเภท รวมถึงในอนาคตสามารถใช้กองทุน Climate Change ในพ...การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภาค ในส่วนของการพัฒนาพลังงานสะอาดได้

นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนโครงสร้างกิจการไฟฟ้าจาก ESB – Enhanced Single Buyer ไปสู่การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้า RE100 ของ FDI,การส่งออก และบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality แบบเป็นขั้นตอนภายในกรอบเป้าหมายเวลาที่เหมาะสม โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้าRE100 สูงมาก เช่น EEC และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าจะถูกหรือแพงอยู่ภายใต้นโยบายและแผน เพราะโรงไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องต้องใช้การวางแผนล่วงหน้า ไม่สามารถมาปรับได้ภายในเวลา 1-2 วัน ต้องยอมรับว่าค่าเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะ LNG นำเข้าที่มีความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

ปัจจุบันภาครัฐและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พยายามบริหารค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและไม่ให้สูงเกินไปจนกระทบต่อประชาชน ซึ่งค่าไฟฟ้าปัจจุบันยังคงตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่ประชาชนอาจจะรู้สึกว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น