สบน.ยันการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 63 กว่า 7.84 แสนล้านบาท

617
0
Share:

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไปจำนวน 784,115 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย
.
1) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณภายใต้กรอบวงเงินของปีงบประมาณ 2562 ซึ่งได้มีการขยายเวลาในการกู้เงินเพื่อให้สอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปี (Carry Over) จำนวน 101,022 ล้านบาท โดยเป็นดำเนินการตามมาตรา 21 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
.
2) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและกู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ รวมทั้งสิ้น 683,093 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกรอบเพดานของกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ โดยแบ่งเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 469,000 ล้านบาท และการกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ จำนวน 214,093 ล้านบาท โดยเป็นดำเนินการตามมาตรา 21 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
.
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีวงเงินทั้งสิ้น 3,200,000 ล้านบาท โดยรวมวงเงินชำระคืนเงินต้นจำนวน 89,170.40 ล้านบาท ดังนั้น กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2563 ตามกฎหมายมีจำนวน 711,336 ล้านบาท
.
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ได้มีการตราพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 โดยให้กระทรวงการคลังโอนงบชำระคืนเงินต้นจำนวน 35,303 ล้านบาท เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลให้งบชำระคืนเงินต้นคงเหลือ จำนวน 53,867.40 ล้านบาท ดังนั้น กรอบวงเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2563 จึงคงเหลือจำนวน 683,093.92 ล้านบาท