สภาธุรกิจตลาดทุนไทยชี้รัฐต้องเร่งใช้เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท

373
0
Share:

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยชี้รัฐต้องเร่งใช้เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท แถมหนุนกู้เพิ่ม ปีหน้าดันจีดีพีได้กว่า 4% เห็นหุ้นไทยแถว 1,800 จุด
.
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่า การสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน รัฐต้องสร้างความมั่นใจ ทั้งการจัดการโควิด-19 และแผนเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งปีนี้จะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0 และปีหน้าหากจีดีพีไทยขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ก็คาดว่าจะเห็นดัชนีหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 1,800 จุด โดยสิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ ใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 2 ฉบับ รวม 1.5 ล้านล้านบาท โดยต้องเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และควรแก้ไขพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ว่า รัฐบาลต้องคงสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกิน ร้อยละ 60 เพื่อให้ปี 2565 สามารถกู้เพิ่มในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
.
สำหรับในไตรมาส 4 ปีนี้ หากรัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนและกระจายได้ตามแผน จนฉีดประชากรได้ 100% ดัชนีหุ้นก็จะทรงตัวหรือบวกจากระดับ 1,650 จุด เล็กน้อย แต่หากแผนจัดการโควิด-19 แย่ลง คนติดเชื้อพุ่งไปถึง 20,000 คน/วันอีก ดัชนีก็จะทรุด
.
ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ยังได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index : ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 144.37 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 124.3% จากเกณฑ์ซบเซาเดือนก่อนมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” คาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมา คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินทุนไหลเข้า
.
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกปัจจุบัน การเมืองในประเทศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ
.
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนสิงหาคม 2564 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
.
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤศจิกายน 2564) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 124.3% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 144.37 ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ “ร้อนแรง” ส่วนนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนต่างประทศปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ “ร้อนแรงอย่างมาก”
.
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
.
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ แผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19
.
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกปัจจุบัน
.
ทั้งนี้ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุ 1,600 จุดได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากการที่ได้รับข่าวดี ซึ่งช่วยหนุนตลาด อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ความชัดเจนจากภาครัฐในการผ่อนคลาย Lockdown และการที่ FED ประกาศว่าอาจจะเริ่มลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) ในปีนี้ แต่จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดทุนไทยเป็นเดือนแรกในรอบปี 2021 โดย SET index ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 ปิดที่ 1,638.75 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.68% จากเดือนก่อนหน้า
.
ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การประชุม FED รอบเดือนกันยายน ซึ่งหาก FED มีการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย อาจเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงผลการประชุมธนาคารกลางหลัก อาทิ ECB, BOJ และ BOE ที่คาดว่าจะคงนโยบายดอกเบี้ยตามเดิม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน ที่อาจบานปลาย