สภาพัฒน์ขอ ธปท. หั่นดอกเบี้ย ชี้ถึงเวลาใช้มาตรการการเงินพยุงเศรษฐกิจ เหตุหนี้ครัวเรือนยังสูง

157
0
Share:
สภาพัฒน์ขอ ธปท. หั่น ดอกเบี้ย ชี้ถึงเวลาใช้มาตรการการเงินพยุง เศรษฐกิจ เหตุหนี้ครัวเรือนยังสูง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าปัจจุบันข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ออกมาสะท้อนถึงปัญหาที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยคือหนี้ที่สูง โดยเฉพาะภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งช่วงที่ผ่านมาจะมีสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เริ่มเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ หนี้เสีย (NPL) ซึ่งเพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยที่ผ่านมาทางฝั่งภาครัฐได้ใช้มาตรการต่างๆ เกือบทั้งหมดแล้ว ทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว มาตรการช่วยเกิดการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว เร่งงบประมาณปี 67 เร่งรัดเบิกจ่ายที่เป็นงบประจำต่อเนื่อง และรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนต่อเนื่องดังนั้นจึงถึงช่วงเวลาที่มาตรการการเงินจะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สภาพัฒน์มองว่ามาตรการด้านการเงินน่าจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ โดยเฉพาะการลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี อย่างมาตรการอัตราดอกเบี้ยต่างๆ ต้องพิจารณาจริงจัง ไม่ว่าจะอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งเน้นลงไปภาครัวเรือนและเอสเอ็มอี เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง เพราะตัวธุรกิจขนาดใหญ่ไม่มีปัญหามาก แต่ที่มีปัญหาคือครัวเรือนและเอสเอ็มอี คงต้องทำมาตรการช่วยให้เกิดปรับตัวของส่วนต่างดอกเบี้ยกลุ่มเอสเอ็มอีและครัวเรือน โดยต้องมีมาตรการเข้าไปดูเป็นการเฉพาะด้วยไม่ให้ดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้มีการก่อหนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ต้องดูมาตรการในส่วนของการกำหนดชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำยังควรมีมาตรการผ่อนคลายสินเชื่อบัตรเครดิตต่อไปอีกระยะ เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีหลายธุรกิจใช้บัตรเครดิตทำธุรกิจ ในช่วงโควิด-19ที่ผ่านมามีมาตรการผ่อนคลายเรื่องนี้ การชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ของวงเงินใช้จ่าย ซึ่งมาตรการสิ้นสุดแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค.66 พอมาเดือน ม.ค.67 ขยับเป็น 8% โดยหากดูตัวสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้และปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมทั้งตัวเลข SM ต้องการให้ปรับการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% อีกระยะ เพื่อให้ภาคเอสเอ็มอีที่ใช้สินเชื่อบัตรเครดิต ให้มีกำลังการใช้จ่ายมากขึ้น ถ้าใช้ประกอบกับดอกเบี้ยด้วยเชื่อว่าจะไม่ทำให้ตัว SM ไปเป็น NPL

โดยในเรื่องมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิตต้องทำควบคู่กับการที่ธนาคารพาณิชย์ไปดูกลุ่มที่ใช้การชำระขั้นต่ำเป็นเวลานาน ดึงมาปรับโครงสร้างหนี้ ให้มีภาระดอกเบี้ยลดลงและช่วยให้เกิดการชำระหนี้ดีขึ้น ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาผ่อนที่อยู่อาศัย เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต จึงอยากฝากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาตรงนี้อย่างจริงจัง โดยขอย้ำว่าถ้ามีการลดดอกเบี้ยคงต้องให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจ เอสเอ็มอี ครัวเรือน ทั้งหมดอยู่ที่การพิจารณาของ ธปท. ในส่วนตัวคงต้องพิจารณา