สภาส่งสินค้าทางเรือฯตั้งเป้าส่งออกไทยปี 65 โต 5-8%

403
0
Share:
ส่งออก

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนตุลาคม 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,738.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 17.35% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 750,015.8 ล้านบาท ขยายตัว 24.9% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนตุลาคมขยายตัว 25.38%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,108.9 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 34.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 772,540 ล้านบาท ขยายตัว 43.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2564 ขาดดุลเท่ากับ 370.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 22,524 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 222,736.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,952,185.9 ล้านบาท ขยายตัว 16% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วง 10 เดือนนี้ขยายตัว 19.6%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 222,736.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,999,330.7 ล้านบาท ขยายตัว 31.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทย เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 เกินดุล 1,646.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขาดดุลเท่ากับ 47,114.8 ล้านบาท

สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 ลุ้นเติบโตถึง 15% และคาดการณ์ปี 2565 โต 5-8% (ณ เดือนธันวาคม 2564) โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่

1) ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” ซึ่ง WHO จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล ทำให้มีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศอาจจะล็อคดาวน์อีกครั้งซึ่งสวนทางกับช่วงเศรษฐกิจกำลังเร่งฟื้นตัว

2) แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น

3) ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือปลายทาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงจีนที่มีการเร่งนำเข้าสินค้าในทันช่วงเทศกาลคริสต์มาสและตรุษจีน ส่งผลให้บางสายการเดินเรือต้องหยุดให้บริการจองระวางชั่วคราว ภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปี 2565

4) ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง

5) ปัญหาคอขวดด้านอุปทานของโลก เนื่องจากการผลิตทำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ต้นทุนการผลิตโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเอเชียและไทยต้องแบกรับภาระจากต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนค่าขนส่ง อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงกำลังซื้อผู้บริโภค และทำให้การนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มชะลอตัวลง