สภาหอการค้าไทยขอบคุณรัฐบาลไม่ล็อกดาวน์ คาดปลายเดือนนี้ ยอดติดเชื้ออาจลดลง

745
0
Share:
เศรษฐกิจ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม ศบค. ว่า หอการค้าไทยขอบคุณรัฐบาลที่ฟังเสียงผู้ประกอบการ โดยใช้การยกระดับพื้นที่ให้เป็นระดับสีส้ม หรือพื้นที่ควบคุม 69 จังหวัด และไม่ได้เป็นการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม การยกระดับมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจโดยรวมบ้าง แต่เชื่อว่าเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ว่าจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาต่อจากนี้ ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นจุดเปลี่ยนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หากทุกคนให้ความร่วมมือ ช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รวมถึงใช้มาตรการ WFH ตามคำแนะนำถึงปลายเดือน ม.ค. เชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อน่าจะมีแนวโน้มที่ลดลงได้ และภาคธุรกิจต้องพยายามควบคุมและนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด เพราะคงไม่มีใครต้องการกลับไปอยู่ในสถานการณ์เช่นปีที่ผ่านมา ในขณะที่ภาคประชาชนเองก็ต้องดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้มากขึ้น ไม่เดินทางหรือพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมถึง สถานประกอบที่ไม่ใส่ใจและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางสาธารณสุข

สำหรับการเลื่อนเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ออกไปนั้น อาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการบ้าง เพราะธุรกิจกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบมากอย่างยาวนาน แต่หากเปิดในช่วงเวลานี้ ก็อาจจะเร่งการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น ทั้งนี้ การอนุญาตให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สามารถเปิดเป็นร้านอาหารได้แทน ก็ถือเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนั้น พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) 8 จังหวัด ยังอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 3 ทุ่ม (จากเดิม 5 ทุ่ม) ก็เป็นแนวทางที่เหมาะสมในช่วงเวลาเช่นนี้ เพราะหากห้ามการดื่มทั้งหมด จะเป็นการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวอย่างมาก

การเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 3 จังหวัด/พื้นที่ ได้แก่
สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา และกระบี่ (ทั้งจังหวัด) ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม นั้น จะเป็นตัวเสริมให้การท่องเที่ยวค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น และนักเดินทางมีตัวเลือกเพิ่มจากจังหวัดภูเก็ต แต่ก็ต้องมีมาตรการควบคุมที่ดีควบคู่กันไปด้วย และภาคเอกชนเสนอให้ภาครัฐทยอยเพิ่มพื้นที่ที่มีความพร้อมในระยะต่อไปด้วย สำหรับประเด็นที่ยังมีการระงับการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในรูปแบบ Test&Go นั้น หอการค้าไทยคิดว่า การระงับไปนั้น จะกระทบต่อชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ของประเทศ รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สายการบิน ผู้เดินทาง ผู้ประกอบการ แรงงานที่ได้รับการจ้างงานอาจถูกเลิกจ้าง

ดังนั้น ภาครัฐอาจจะใช้วิธีการปรับมาตรการเพิ่ม เช่น ยกระดับการตรวจเพิ่มเติมก่อนเดินทางเข้าประเทศ 2 ครั้ง (ตรวจล่วงหน้า 6 วัน และ 3 วัน ก่อนเดินทาง) เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ แล้วค่อยมาเข้าระบบ Test&Go ที่ประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งมาตรการนี้
บางประเทศก็ได้มีการนำมาปรับใช้แล้ว