สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ ครึ่งปีหลังทรุดหนักกว่าครึ่งปีแรก เกินครึ่งเหลือสายป่านไม่ถึง 6 เดือนนับถอยหลังเลิกค้าขาย

509
0
Share:

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่าธุรกิจการค้าปลีก และการบริการในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะทรุดหนัก การเติบโตโดยรวมปีนี้มีแนวโน้มจะติดลบทั้งปี โดยสะท้อนจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เห็นได้ชัดเจนว่าค่าดัชนี RSI อยู่ที่ระดับ 27.6 ซึ่งตกต่ำกว่าดัชนีเดือนเมษายนปี 2563 ที่ระดับ 32.1 ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาการระบาดของโรคโควิด-19 รอยแรกของไทย

สาเหตุจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการกระจายและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ของภาครัฐที่ยังคงมีแต่ความล่าช้า มาตรการในการเยียวยาภาคธุรกิจที่ไม่เข้มข้นมากพอ การกระตุ้นกำลังซื้อตามที่ภาครัฐประกาศจะอัดฉีดเพิ่มนั้น กลับไม่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวต่อไปว่า ภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า มีความรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ มาตรการกึ่งล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวที่ประกาศเพิ่มเติมเป็น 29 จังหวัด ทั้ง 2 ปัจจัยที่หนักหน่วงนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวกลับไปเป็นปกติ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปี 2566 เป็นต้นไป

ผู้ประกอบการค้าปลีกได้สะท้อนมุมมองสำคัญๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีการระบาดของรอบที่ 3 อย่างรุนแรง และรวดเร็ว พบว่า ผู้ประกอบการราว 61% ยอมรับปริมาณการจับจ่ายและการใช้บริการลดลงมากกว่า 25% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการเคอร์ฟิว หรือจำกัดเวลาการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจของภาคค้าปลีก

ผู้ประกอบการกว่า 41% ตัดสินใจปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงานลง เพราะธุรกิจมียอดขายและค่าธรรมเนียนการขายที่ตกต่ำลงมาก ขณะที่ 53% หรือเกินครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการ ยอมรับว่ามีสภาพคล่องทางการเงินไม่ถึง 6 เดือน ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์การทำธุรกิจที่ฝืดเคือง และการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำยังคงเป็นปัญหาที่ต้องการได้รับการแก้ไข และผู้ประกอบการ 90% คาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ระดับปกติในช่วงกลางปี 2566 หรืออาจจะนานกว่านั้น