สรท.คาดส่งออกไทยปีนี้โต 3 – 4 % พร้อมวอนแบงก์ชาติเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท

655
0
Share:

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสรท. เปิดเผยว่า คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ 3-4% โดยมีปัจจัยบวก คือการกลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นกลาง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกก่อนกระทบการระบาดครั้งใหม่
.
นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ได้แก่ ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home จากอานิสงค์ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า
.
ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การระบาดของโควิดในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศที่ยังมีสถานการณ์รุนแรง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลง และการจ้างงานของประชาชน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง
.
โดยการส่งออกของไทยปีนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้ ซึ่งสรท.ตั้งเป้าไว้ 3-4% หากทำได้จะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามไปด้วย รวมถึงช่วยในเรื่องการจ้างงาน เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ ขณะเดียวกันยังต้องมีมาตรการกระตุุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐให้มีความต่อเนื่องด้วย
.
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ณวันที่ 31 ม.ค. อยู่ที่ 29.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า 4.18% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งระดับการแข็งค่าของค่าเงินบาทค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการแข่งขันด้านราคาในการส่งออก
.
ส่วนปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และระวางเรือไม่เพียงพอ จากการระบาดของโควิดรอบ 2 ในหลายประเทศ ทำให้มีปริมาณตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือปลายทางโดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า ตลอดจนค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น
.
ส่วนภาพรวมการส่งออกเดือนม.ค.- ธ.ค. ปี 2563 มีมูลค่า 231,468 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 6.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 206,991 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 12.39% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 24,476 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 682,547 ล้านบาท
.
ทางสรท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจไปยังรัฐบาล ได้แก่ 1.มาตรการเร่งด่วน ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปกว่าคู่แข่งที่สำคัญ เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน 2.มาตรการระยะยาว รัฐบาลต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนแรงงานที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการลดกำลังการผลิตและยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ การเร่งรัดเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี อาทิ เร่งบังคับใช้ความตกลง RCEP ภายในปี 2564 รวมถึงเร่งเจรจาความตกลงที่อยู่ใน Pipeline อาทิ Thai-UK / Thai-EU / EFTA / Pakistan / Turkey เป็นต้น
.
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมายังไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าของไทย เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่คุ้นเคย ตราบใดที่ด่านชายแดนยังสามารถเข้าออกได้ตามปกติ แต่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในประเด็นของการเมืองระหว่างท่าทีของนานาชาติ จะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจพม่าอย่างไรเนื่องจากมีความเชื่อมโยงการลงทุนและการค้า โดยปัจจุบันเมียนมานำเข้าสินค้าไทยอาทิ เครื่องดื่ม น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหล็กกล้า โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอาง