สรท.ปรับเป้าส่งออกไทยดีขึ้นติดลบเหลือ 7 %

736
0
Share:

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยว่าสถานการณ์การส่งออกเดือนก.ย.2563 มีมูลค่า 19,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 3.86% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 17,391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.08 % เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 2,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
โดยภาพรวม 9 เดือนแรก(ม.ค.- ก.ย. ) ไทยส่งออกรวมมูลค่า 172,996 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.33% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 152,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 14.64 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- ก.ย. 2563 ไทยเกินดุลการค้า 20,623 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
ทั้งนี้การส่งออกเดือนก.ย. มีทิศทางดีขึ้น โดยติดลบน้อยลง ทางสรท.จึงปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 ติดลบ 7% จากเดิมที่คาดการณ์จะติดลบ 8-10% และการส่งออกในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี เชื่อว่าน่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยบวกจาก แนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกเริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากการปรับประมาณการเศรษฐกิจทั่วโลกที่เป็นไปทิศทางดีขึ้นจากช่วงต้นปี อาทิ IMF และ World bank รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีนและสหรัฐฯ
.
การส่งออกไทยที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากอัตราการหดตัวของการส่งออกที่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดในเดือนพ.ค. ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็ติดลบน้อยลง โดยสินค้ากลุ่มที่สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งแปรรูป อาหารสำเร็จรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้ากลุ่ม work from home อาทิ สินค้าเฟอร์นิเจอร์ สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจในภาค real sector ที่เริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
.
ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในทวีปยุโรป
.
2. International logistics จากปัญหาการขาดแคลนระวางเรือและตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสินค้าในหลายเส้นทาง
.
3.ค่าเงินบาทที่ทรงตัวในระดับที่แข็งค่า จากแนวโน้มการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอการฟื้นตัว และแรงกดดันภายนอกจากความไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลัง
.
4. การนำเข้าที่ยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าทุนที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวกลับค่อนข้างยากและอาจมีสถานการณ์ชะลอตัวเช่นนี้ไปจนถึงต้นปี 2564 เป็นอย่างน้อย สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร
.
5. ขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาช่วยเหลือหาทางออกให้กับอุตสาหกรรมน้ำตาลส่งออก จากกรณีที่เวียดนามเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดและอุดหนุน (AD/CVD) ตามข้อเรียกร้องจากสมาคมน้ำตาลและอ้อยเวียดนาม (VSSA) และผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศ
.
6. ขอให้คงระดับการโค่นไม้ยางพารา 4 แสนไร่ต่อปี ตามนโยบายเดิม จากกรณีที่กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายการลดการโค่นไม้ยางพาราจาก 4 แสนไร่ต่อปีเป็น 2 แสนไร่ต่อปี ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราเป็นหลัก
.
7. ขอผ่อนผันให้รถยนต์ผลิตเพื่อส่งออกสามารถวิ่งบนทางสาธารณะโดยไม่มีป้ายทะเบียนจากจุดพักรถในโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออก โดยขอเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 8 เรื่องรถที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียน