สรุป 1 ปีผลงานชัชชาติ ดันนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย ใกล้ปลดล็อกหนี้ BTS สายสีเขียว

288
0
Share:
สรุป 1 ปี ผลงาน ชัชชาติ ดันนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย ใกล้ปลดล็อกหนี้ BTS สายสีเขียว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าว “365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน กรุงเทพฯ” ชี้แจงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย รวมถึงทิศทางการการพัฒนากรุงเทพมหานครในระยะต่อไป โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โฆษกสภากรุงเทพมหานคร และรองโฆษกสภากรุงเททพมหานคร ร่วมการแถลง “365 วันที่ผ่านมา เป็น 365 วันที่สนุกและยังคงมีพลังเหลือเฟือในการทำงานต่อ ทั้งหมดที่เห็นไม่ใช่ผลงานของชัชชาติคนเดียว แต่เป็นผลงานของทีมทุกคนที่ร่วมมือกัน เป็นผลงานของผู้บริหาร พี่น้องข้าราชการ บุคลากรกรุงเทพมหานคร ทีมสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่เป็นกำลังสำคัญในการออกกฎหมาย และเกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เป็นการทำงานแบบไร้รอยต่อจริงๆ”

โดยในช่วงแรกที่เข้ามาในเดือนมิถุนายน 2565 งบประมาณปี 66 ของกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเสร็จแล้ว แต่ได้เริ่มการใช้งบประมาณเพื่อนโยบายอย่างจริงจังคืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 66 กว่า 9,000 ล้านบาท เป็นช่วงที่เริ่มเห็นการใช้งบประมาณเพื่อนโยบายของเรามากขึ้น และประชาชนสามารถเข้าไปดูสิ่งที่เราทำได้ทางเว็บไซต์ http://openpolicy.bangkok.go.th

5 เรื่องหลัก ที่ทำต่อเนื่อง
ชัชชาติกล่าวว่า สำหรับช่วงแรกมี Key Driver 5 เรื่องหลักที่ได้ทำ คือ
1. การให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย โดยไม่ได้ละเลยเส้นเลือดใหญ่ที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นว่ากรุงเทพฯ อ่อนแอที่เส้นเลือดฝอย หากทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงและประสานกับเส้นเลือดใหญ่ให้เข้มแข็งได้ จะทำให้ทั้ง 2 ส่วนทำงานไปด้วยกันได้

2. การเปลี่ยน Mind set ข้าราชการ โดยใช้ People Centric คือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง หันหน้าหาประชาชน ตอบสนองประชาชนตลอดเวลา ทำให้เป็นหัวใจหลักในการทำงานและผู้บริหารต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่ลูกน้อง

3. Technology Driver คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยน เป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เช่น Open Data การเปิดเผยข้อมูล การให้ใบอนุญาตออนไลน์ การให้บริการ Telemedicine เป็นต้น ซึ่งเห็นผลชัดเจน อนาคตต่อไปจะไม่หวนกลับไปในรูปแบบเดิมแล้ว เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนและจะถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์ประชาชน

4. เรื่องของความโปร่งใส เป็นโจทย์ที่ประชาชนฝากให้ตั้งแต่เริ่มแรก การเปลี่ยน Mind set ผู้บริหารในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม ไม่เก็บส่วย เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยความโปร่งใส

5. สร้างภาคีเครือข่าย เพราะปีแรกเราไม่มีงบประมาณอะไรเลย มีเพียงความร่วมมือจากชุมชน หอการค้า หน่วยงานภาครัฐ เอกชน กิจกรรมที่เกิดขึ้นได้จึงเกิดจากภาคีเครือข่ายทำให้เมืองขับเคลื่อน และคาดว่าภาคีเครือข่ายจะร่วมขับเคลื่อน กทม.ต่อไปในปีที่ 2-4 ด้วย

นอกจากนี้ ล่าสุดได้มีการหารือกับผู้บริหาร BTS ถึงแนวทางการแก้ปัญหาการชำระหนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้า BTS และเป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัญหาที่นำมาสู่การฟ้องร้องศาลปกครอง ก่อนที่นายชัชชาติ จะเข้ารับตำแหน่ง รวมถึงราคาค่าโดยสารที่ 59 บาท และการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต เพื่อเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานครที่จะใช้ชำระหนี้

นายชัชชาติ กล่าวว่าที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้เตรียมการเรื่องการชำระหนี้มาตลอด แต่ต้องชี้แจงว่ากระบวนการในการดำเนินการ อย่างเรื่องที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ไปจ้าง BTS เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า เรื่องนี้ต้องขออนุมัติจากทางสภากรุงเทพมหานครก่อน และเรื่องการชำระเงินค่าจ้างให้แก่เอกชน ก็ต้องพิจารณานำเงินสะสมจ่ายขาดไปดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันมีคงเหลือ 4-5 หมื่นล้านบาท และเรื่องนี้ก็ต้องเสนอให้สภากรุงเทพมหาครพิจารณา

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวคู่ขนานใน 2 ทาง คือ
1. การนำเรื่องเสนอเข้าสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการชำระหนี้ E&M ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วนี้ และสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครในสมัยหน้าได้ทันที

2. การติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลในหลายประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งรวมถึงแนวทางเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ในเรื่องพิจารณามูลหนี้ต่อการทำสัญญาสัมปทานใหม่ โดยที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว

ขณะเดียวกันกทม.ได้แบ่งปัญหาเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ 2 เรื่อง คือ
1. หนี้ที่เกิดจากค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง O&M (Operation and Maintenance) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งเรื่องนี้ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองสุงสุดแล้ว

2. หนี้ที่เกิดจากค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) โดยก้อนหนี้ส่วนนี้ได้ครบกำหนดต้องชำระให้กับภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าคณะกรรมการวิสามัญที่ผ่านมาประชุมแล้ว 5 ครั้ง ดังนั้นคาดว่าปัจจุบันจะมีรายละเอียดเพียงพอต่อการประกอบการพิจารณา หากเปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยหน้า หรือราวต้นเดือน ก.ค. 2566 จะสามารถนำเรื่องหนี้ E&M รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ครบกำหนดชำระเข้าสู่การพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครได้

ส่วนประเด็นที่ทวงถามไปยังรัฐบาล อาทิ อยากให้การสนับสนุนจากรัฐบาลสําหรับโครงสร้างพื้นฐานกับค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เนื่องจากก่อนหน้านี้มีคำสั่ง มาตรา 44 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ แต่ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย ดังนั้น กรุงเทพมหานครต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างส่วนนี้ และค่าโครงสร้างพื้นฐานเหมือนโครงการลงทุนอื่นๆ

รวมทั้งเรื่องที่ค้างอยู่ตาม มาตรา 44 เกี่ยวกับมูลหนี้ที่เกิดจากในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยก่อนหน้านี้คำสั่งดังกล่าวจะพิจารณาในเงื่อนไขให้สัญญาสัมปทานใหม่ ปัจุจบันกรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือทวงถามถึงแนวทาง และมูลหนี้ที่เกิดขึ้นว่ามีจำนวนเท่าไร ซึ่งตอนนี้เรื่องยังคงค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นคงต้องสอบถามและเร่งรัดทาง ครม.ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร

“เราก็เห็นใจทางเอกชนเพราะมีภาระหนี้ที่เยอะ BTS ก็เป็นตัวสำคัญที่ช่วยบรรเทาเรื่องการเดินทาง แต่ว่าเป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งทั้งฝ่ายบริหารกับทางสภากรุงเทพมหานคร ก็เข้ามาหลังจากที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ทำอย่างไรให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามในกรอบระเบียบที่กำหนด” นายชัชชาติ กล่าว