สศค.มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะติดลบน้อยกว่าครึ่งปีแรก

688
0
Share:

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค. ยังชะลอตัว จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
.
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตอุตสาหกรรม การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน ส่วนหนึ่งจากมาตรการผ่อนคลายให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น
.
สำหรับการส่งออกในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าการส่งออก 18.8 พันล้านดอลลาร์ ติดลบ 11.4% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 15.5 พันล้านดอลลาร์ ติดลบ 26.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า การส่งออกขยายตัว 20.8% จากการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้ากลุ่มอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า เป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไปสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 17.8% ต่อปี เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ติดลบ 17.5% ยุโรปติดลบ 16% และอาเซียน ติดลบ 19.9% ซึ่งหดตัวน้อยลง สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากประเทศคู่ค้าได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
.
ด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว 1.3% ต่อปี สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว 9.4% จากเดือนก่อนหน้า และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาติดลบ 3.9%
.
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัว 13.3% จากเดือนก่อนหน้า และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ลบ 15.4%
.
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 31.4% จากเดือนก่อนหน้า ด้านรายได้เกษตรกรที่แท้จริงกลับมาขยายตัวได้ 4.1% ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (VAT) ก.ค. ติดลบ 11.7%
.
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ติดลบ 1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.4% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 45.8% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ
.
ขณะที่เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค.ที่อยู่ที่ 274.5 พันล้านดอลลาร์
.
แนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมองว่า จะมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยจะติดลบน้อยกว่าครึ่งปีแรกที่ติดลบ 6.9% ขณะที่ทั้งปี 63 เรายังคงประมาณการจีดีพีไว้ที่ ติดลบ 8.5%