สศช.ชี้แรงงานไทยเสี่ยงตกงานจากโควิด 8.4 ล้านคน

938
0
Share:

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2563 จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้แรงงานมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
.
1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวประมาณ 2.5 ล้านคน // 2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากตั้งแต่ก่อน COVID-19 จากสงครามการค้า และต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และ 3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว ในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่ เพื่อควบคุมโควิด 19 เช่น สถานศึกษา ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้ คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน
.
ส่วนผลกระทบจากภัยแล้งต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ตั้งแต่กลางปี 2562 และต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 370,000 คน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี
.
โดยในเดือนเมษายน ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภัยแล้ง จำนวน 26 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อย และไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน
.
คาดว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 และปัญหาภัยแล้งต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะปรากฏผลชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วง 3-4% หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน
.
เนื่องจากเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดได้ และในครึ่งหลังของเดือนพ.ค.เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น รวมถึงรัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง