สหรัฐลดอันดับค้ามนุษย์ของไทยหล่นอันดับ 2 เฝ้าระวัง ชี้ไทยไม่จริงใจแก้ปัญหาค้ามนุษย์แม้แต่ในช่วงโควิด-19

540
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หรือ K Research Center เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศปรับลดอันดับการค้ามนุษย์ไทยมาลงอยู่ระดับกลุ่มที่ 2 เฝ้าระวัง หรือ Tier 2 Watch List จากเดิมเคยอยู่ที่ระดับกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report 2021 เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา

สาเหตุจากสหรัฐอเมริกามองว่ารัฐบาลไทยไม่ได้พยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะวิธีการที่ทางการไทยใช้กับแรงงานต่างด้าวในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอกย้ำปัญหาสิทธิพื้นฐานขั้นต่ำของแรงงานต่างด้าว รวมทั้งปัญหาเดิมที่ยังปรากฏทั้งการทำงานเกินเวลาที่กำหนด การใช้แรงงานเด็กและความเป็นอยู่ที่แออัด ซึ่งในครั้งนี้ประเทศอาเซียนที่อยู่ในระดับเดียวกับไทยประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา และเวียดนาม

สำหรับการที่ไทยถูกลดอันดับมาอยู่ที่ Tier 2 Watch List เป็นระดับต่ำสุดของการจัดอันดับในกลุ่มที่ 2 นี้ แม้ว่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย แต่ถ้าหากไม่เร่งแก้ไขในประเด็นที่ถูกเพ่งเล็งภายใน 2 ปี มีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกลดไปอยู่ในลำดับต่ำสุดในกลุ่มที่ 3 หรือ Tier3

หากรัฐบาลสหรัฐทบทวนให้ไทยถูกลดอันดับลงมาอยู่ที่ระดับที่ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด จะเพิ่มความเสี่ยงต่อธุรกิจไทย ดังนี้

1.ภาพลักษณ์สินค้าไทยถูกต่างชาติเพ่งเล็งมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยถูกกีดกันทางการค้าจากนโยบายนี้ โดยในอดีตปี 2557 ไทยเคยตกอยู่ในสถานะ Tier 3 โดยติดอยู่เป็นเวลา 2 ปี สาเหตุหลักมาจากแรงงานผิดกฏหมายในอุตสาหกรรมประมง แต่ไทยไม่ได้ถูกสหรัฐอเมริกา กีดกันการค้าแต่อย่างใด ซึ่งต่อมาในปี 2558 ยุโรปก็ประกาศให้ใบเหลืองไทยในปัญหาอุตสาหกรรมประมงเหมือนกัน เนื่องจากไทยไม่ได้แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมหรือ IUU Fishing ในเวลานั้นไทยก็สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้และไม่ถูก EU ห้ามนำเข้าสินค้าประมง

2.การที่ไทยอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ของสหรัฐฯ เปิดช่องให้สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการกดดันทางการค้าอื่นๆ เพื่อกีดกันทางการค้ากับไทยได้ อาทิ ไทยอาจถูกถอนสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไปหรือ GSP ที่สหรัฐอเมริกาให้แก่ไทย โดยปัจจุบันไทยส่งออกโดยใช้สิทธินี้ลดหย่อนภาษีในการทำตลาดสหรัฐอเมริกา ปี 2563 มูลค่า 3,849 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็น 10.2% ของการส่งออกของไทยไปสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ดังตัวอย่างกรณีจีนที่ถูกจัดอยู่ในอันดับ Tier 3 มาตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากมีประเด็นบังคับใช้แรงงานชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง และสหรัฐอเมริกา เพ่งเล็งจีนในประเด็นเรื่องแรงงานเรื่อยมา จนกระทั่งล่าสุดปัญหาดังกล่าวกลายเป็นที่มาที่สหรัฐอเมริกาประกาศปกป้องการค้า โดยห้ามนำเข้าวัสดุโซล่าร์เซลล์จากบริษัทจีน 5 แห่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 ภายใต้กฎหมายการค้า ปี ค.ศ. 1930 (Tariff Act of 1930)

จากกรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าประเด็นด้านแรงงานเป็นจุดอ่อนของภาคการผลิตและส่งออกของไทย ที่ทุกวันนี้ไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวสูง แม้การที่ไทยถูกจัดอยู่ที่ Tier 2 Watch List จะไม่มีผลต่อการส่งออกของไทย แต่ถ้าหากไทยถูกจัดอันดับลงไปที่ Tier 3 จะเปิดทางให้สหรัฐฯ ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างกีดกันการค้ากับไทยในอนาคต โดยอาจการตัดสิทธิ GSP ที่สหรัฐอเมริกาให้กับไทยเป็นมาตรการที่ชอบธรรมสหรัฐฯ สามารถทำได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ปัญหาแรงงานก็อาจเป็นประเด็นที่ยุโรปนำมาใช้ตั้งแง่กีดกันทางการค้ากับไทยตามมาได้เช่นกัน

ทั้งนี้ การจัดอันดับการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) จะเผยแพร่ในช่วงกลางปีของทุกปี โดยจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000: TVPA) ในมุมมองของสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ Tier1 เป็นระดับที่ดีที่สุด บ่งชี้ว่าประเทศนั้นดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐฯ Tier2 เป็นระดับรองลงมา ประเทศในกลุ่มนี้มีการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายสหรัฐฯ แต่มีการแสดงให้เห็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา Tier2 Watch List หรือระดับที่ต้องจับตามอง เป็นการพบหลักฐานการค้ามนุษย์ที่เพิ่มขึ้น หรือรัฐบาลประเทศนั้นยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ลุล่วงภายใน 2 ปี จะถูกลดขั้นไปอยู่ระดับต่ำสุด Tier3 เป็นระดับต่ำที่สุด คือประเทศนั้นไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมายขั้นต่ำของสหรัฐฯ และไม่มีความพยายามในการแก้ไข มีความเสี่ยงที่ประเทศในกลุ่มนี้จะถูกลดสิทธิ์ต่างๆ และเปิดทางให้สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต​