สหรัฐฯ-อิหร่านดันราคาน้ำมันพุ่งขึ้นช่วงสั้น

709
0
Share:

นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผย ว่า ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านจะผลักดันทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากอิหร่านเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC ซึ่งประกาศว่าอาจตัดสินใจปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” ที่เป็นช่องทางขนส่งน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้กันทั่วโลก สร้างความกังวลว่าอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันในตลาดโลกช่วงสั้น และประเด็นข้อพิพาทของ 2 ประเทศอาจมีความยืดเยื้อ เป็นอุปสรรคต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป ส่งผลกระทบโดยตรงกับดีมานด์น้ำมันในตลาดโลกให้ยังอยู่ในภาวะถดถอยเช่นเดิม
.
สำหรับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกระยะสั้น เชื่อว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นยังอยู่ในกรอบจำกัด ฝ่ายวิจัยฯยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนสมมติฐานราคาน้ำมันตลาดโลกปี 2563 ที่คาดไว้ในระดับเฉลี่ย 65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล แม้ปลายปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบดูไบจะขยับขึ้นจาก 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล มาเคลื่อนไหวบริเวณ 63-64 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากความคาดหวังการค้าสหรัฐฯ-จีน จะมีสัญญาณผ่อนคลายจากแผนทำข้อตกลงในช่วงกลางเดือน ม.ค.2563 ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็น 66 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากกรณีข้อพิพาทยกระดับขึ้นของสหรัฐฯและอิหร่านในรอบนี้
.
แต่จุดพลิกผันที่จะทำให้ราคาน้ำมันเข้าสู่ทิศทางขาขึ้นได้อีกครั้งคือภาวะเศรษฐกิจโลกต้องเริ่มส่งสัญญาณกลับมาฟื้นตัวชัดเจน
.
ฝ่ายวิจัยฯ ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มน้ำมันเท่ากับตลาดฯ แต่ระยะสั้นเชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์จากทิศทางราคาน้ำมันที่เป็นขาขึ้น จึงแนะนำหาจังหวะเข้าซื้อลงทุนในหุ้น บมจ.ปตท. หรือ PTT ประเมินราคาพื้นฐาน 56 บาท และบมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ราคาพื้นฐาน 170 บาท เพราะนอกเหนือจากได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันแล้ว PTTEP มีปัจจัยพื้นฐานคอยผลักดันอัพไซด์จากโครงการใหม่ๆที่เข้าซื้อกิจการในปี 2562 ส่งผลบวกกับปริมาณขายเติบโตอย่างชัดเจน เป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนกำไรในปี 2563 เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน ส่วน PTT เป็นบริษัทแม่ก็จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของ PTTEP ด้วย
.
อย่างไรก็ตามแม้ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นโดดเด่น แต่เชื่อว่าเป็นแค่ภาวะชั่วคราว เพราะหากสถานการณ์สหรัฐฯและอิหร่านยังคงตรึงเครียดยืดเยื้อ ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวแน่นอน เป็นตัวแปรสำคัญกดดันความต้องการน้ำมันลดลงในระยะถัดไป
.
ส่วนหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น ถ้าในกรณีแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวสูงเช่นในระดับปัจจุบัน คาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2563 มีโอกาสได้รับประโยชน์กำไรสต็อกน้ำมัน แต่ในกลุ่มปิโตรเคมี ปัจจัยเรื่องของราคาส่วนต่างผลิตภัณฑ์ ยังไม่ได้มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เพราะยังได้รับผลกระทบจากดีมานด์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2563 ดังนั้นยังคงน้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีน้อยกว่าตลาด