สาธารณสุขเผยยกเลิกรักษาโควิด-19 ฉุกเฉิน ประชาชนยังได้สิทธิรักษาฟรี

386
0
Share:
สาธารณสุข

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการรักษาโรคโควิด-19 ตามสิทธิรักษาว่า ผ่านมาแล้ว 2 ปี คนไทยอยู่กับโควิด-19 โดยขณะนี้ 90% พบเป็นเชื้อโอไมครอน และมีอาการน้อยกว่าเดลตา แบ่งเป็น มีอาการรุนแรงน้อยกว่าเดลตา 7 เท่า, ในผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ น้อยกว่าเดลตาถึง 7 เท่า และอัตราการเสียชีวิตก็น้อยกว่า เดลตาถึง 10 เท่า

ส่วนใหญ่การรักษาขณะนี้ใช้ระบบ HI และ CI โดยเตียงฉุกเฉินขณะนี้มีสำรองไว้ 30,000 เตียง และมีเตียงผู้ป่วยสีเขียว 130,000 เตียง ซึ่งเดิมเตียงเหล่านี้ เป็นการนำเตียงผู้ป่วยในระบบอื่นมารวมเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักโรคอื่น ๆ ต้องเลื่อนการผ่าตัดรักษา

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ต้องยอมรับช่วงแรกไม่มีใครรู้จักโควิดมากขึ้น ทำให้ต้องนำเอาผู้ป่วยทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบ หรือ รพ.เพื่อรับการรักษา จึงทำให้เกิดการรักษาแบบ UCEP ในโควิด และส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเมื่อมีอาการ จึงเลือกการรักษาใน รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลเหล่านั้นไม่สามารถไปให้บริการผู้ป่วยแบบอื่นได้ ทั้งการปรับการสิทธิรักษานี้ ทำให้ผู้ป่วยโควิดกลับไปรักษาตามสิทธิตาม ทั้งระบบประกันสังคม (สปส.) ระบบหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) และระบบสวัสดิการราชการ รวมถึงสิทธิของต่างด้าว ตามกองทุนต่าง ๆ ซึ่งเป็นการรักษาฟรีตามสิทธิ์ แต่หากมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินตามระบบ UCEP คือ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบ เหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด 6.มีอาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย ก็สามารถใช้สิทธิ์ได้ โดยในส่วนของ สปสช.จะมีการหารือเรื่องสิทธิการรักษานี้ในวันที่ 15 ก.พ.นี้

นพ.ธเรศ กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างความชัดเจนกับผู้ป่วยที่ซื้อกรมธรรมน์ประกันโควิดกับ บริษัทประกันภัย ทางกรม สบส. และกรมการแพทย์ ได้มีการทำหนังสือถึง คปภ.ภายในสัปดาห์นี้ โดยยืนยันชัดเจนว่า ทั้งระบบการรักษาแบบ HI, CI และ Hospitel ถือเป็นสถานพยาบาลตามที่ทางกรม สบส.ประกาศ มีผลให้ผู้ป่วยที่มารับการรักษาในระบบนี้สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิของกรมธรรมน์ รวมถึงค่าชดเชยต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ด้วย โดยการประกาศนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดภาวะการขาดแคลนเตียงรักษา ทำให้ต้องประกาศให้สถานที่เหล่านี้ เป็นสถานพยาบาลชั่วคราว

นพ.ธเรศ ยังกล่าวย้ำว่าการกลับมารักษาโควิดตามสิทธิ์ ไม่มีผลกับอัตราการผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะขณะนี้โควิดสายพันธุ์โอไมครอน ไม่ได้รุนแรงเท่ากับเดลตา และส่วนใหญ่ของผู้ป่วยก็ไม่มีอาการ