“สุริยะ” ขีดเส้น ปี 68 ปิดตำนานก่อสร้างถนนพระราม 2 สั่งคุมเข้มตรวจงานก่อสร้างรายเดือน

176
0
Share:
“สุริยะ” ขีดเส้น ปี 68 ปิดตำนานก่อสร้าง ถนนพระราม 2 สั่งคุมเข้มตรวจงานก่อสร้างรายเดือน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้รับเหมาก่อสร้างบนถนนพระราม 2 โดยระบุว่า ตามที่เป็นข่าวโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ดำเนินงานมานานจนได้ชื่อว่าเป็นถนน 7 ชั่วโคตร กระทรวงฯ ขอชี้แจงว่าการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2513 และมีการก่อสร้างขยายช่องจราจรมาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด

ขณะที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ ประกอบด้วย
โครงการภายใต้การดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
– โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง จำนวน 4 สัญญา
โครงการภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง (ทล.)
– โครงการทางยกระดับ ทล.35 บางขุนเทียน – เอกชัย ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร จำนวน 3 สัญญา
– โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 เอกชัย – บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร จำนวน 10 สัญญา

ซึ่งกระทรวงฯ ได้กำชับผู้รับเหมาในโครงการก่อสร้างทั้งหมดนี้ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 โดยจากการหารือร่วมกับผู้รับเหมาในวันนี้ (4 มี.ค.) ส่วนใหญ่รับปากที่จะเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน มิ.ย.2568 มีเพียง 2 สัญญาในโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ประกอบด้วย ตอน 4 จุดเริ่มต้นบริเวณ กม.25+734 – กม.26+998 ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร รวมระยะทาง 1.264 กิโลเมตร และตอน 6 จุดเริ่มต้นบริเวณ กม.28+664 – กม.29+772 ระยะทางรวมประมาณ 1.108 กม. ที่จะแล้วเสร็จในช่วงเดือน ธ.ค. 2568 เพราะทั้งสองสัญญานั้นเป็นงานก่อสร้างทางเชื่อมต่อ (แลมป์) ขึ้น – ลง ซึ่งต้องใช้เวลาในการก่อสร้างมากกว่า แต่ถือได้ว่าภายในปี 2568 จะปิดตำนานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 คืนพื้นผิวการจราจรทั้งหมด งานก่อสร้างนี้จะเป็นเซ็ตสุดท้าย

ทั้งนี้ ผู้รับเหมาทุกราย ได้ยืนยันว่าสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนด รวมทั้งยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการ ประชุมร่วมกันในทุกๆ 2 เดือน หากพบว่ามีความล่าช้ามากกว่า 50% ให้ขอความร่วมมือผู้รับเหมาเร่งรัด ส่วนกรณีผู้รับเหมารายใดไม่ให้ความร่วมมือกระทรวงฯ จะใช้มาตรการพิจารณาปรับลดชั้น ไปจนขึ้นบัญชีดำ ซึ่งจะมีผลต่อการเข้าร่วมประมูลโครงการในอนาคต และร้ายแรง คือการบอกเลิกสัญญา

โดยการกำหนดเกณฑ์ปรับลดชั้นผู้รับเหมา ปัจจุบันได้มอบหมายให้ ทล.พิจารณาเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 เดือนหลังจากนี้ ดังนั้นจะเริ่มคุมเข้มผู้รับเหมาได้ทันทีในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งกระทรวงฯ ยืนยันว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่องานก่อสร้างโครงการล่าช้าไปอีก เพราะปัจจุบัน ทล. มีหน่วยงานที่ชื่อว่าสำนักก่อสร้างสะพาน ที่มีความพร้อมในการเข้าไปดำเนินการก่อสร้างให้งานเดินหน้าต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหางานก่อสร้างที่ล่าช้า จากการหารือร่วมกับผู้รับเหมาทราบว่าปัญหาบางส่วนเกิดจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง เหลือเฉลี่ย 4–5 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของ ทล.ที่มีมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชน และความเดือดร้อนของประชาชนในการจราจรติดขัด ทำให้กำหนดเวลาก่อสร้างเฉพาะช่วงกลางคืนเท่านั้นโดยหลังจากนี้กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ ทล.พิจารณาแผนขยายระยะเวลาในการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยเฉพาะวันจันทร์ – ศุกร์ ในช่วงที่การจราจรน้อยกว่าปกติ และจะมีการเบี่ยงการจราจรหรือสลับช่องจราจร เพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่เร็วขึ้นนั้น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก และการจราจรต้องไม่ติดขัด