ส่อแววแย่! เงินฝากแบงก์ในสหรัฐลดฮวบ 4.72 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1

380
0
Share:
ส่อแววแย่! เงินฝาก แบงก์ใน สหรัฐ ลดฮวบ 4.72 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1

บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เปิดเผยยอดเงินฝากของธนาคารในสหรัฐ ว่าลดลงกว่า 4.72 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.5% ในไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ FDIC เริ่มบันทึกข้อมูลในปี 2527 เนื่องมาจากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB)

โดยรายงานของ FDIC สะท้อนให้เห็นถึงสถานะด้านการเงินของภาคธนาคารสหรัฐ นับตั้งแต่การล่มสลายของธนาคาร SVB และ SB ซึ่งก่อให้เกิดความโกลาหลเป็นวงกว้างในภาคธนาคาร รวมไปถึงการที่ธนาคารเฟิส์ต รีพับลิก แบงก์ (FRB) ล้มละลายและถูกหน่วยงานสหรัฐเข้าควบคุมกิจการในเดือนพ.ค. ซึ่งช่วงหลังจาก FDIC เปิดเผยรายงานดังกล่าวได้ไม่นาน ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารในตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลง 2.6% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ และเป็นการปรับตัวลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. โดยหุ้นที่ร่วงลงหนักสุดคือหุ้นธนาคารโคเมริกา, หุ้นคีย์คอร์ป และหุ้นซิติเซนส์ ไฟเนียลเชียล

นายมาร์ติน กรุนเบิร์ก ประธาน FDIC กล่าวว่า แม้ภาคธนาคารของสหรัฐยังคงมีความยืดหยุ่น แต่ผลกระทบรุนแรงที่สุดที่เกิดจากการล้มละลายของ SVB และ SB นั้นยังไม่ปรากฎให้เห็น จนกว่า FDIC จะรายงานตัวเลขยอดเงินฝากของภาคธนาคารในไตรมาส 2 นอกจากนี้ นายกรุนเบิร์กคาดว่าภาคธนาคารของสหรัฐจะเผชิญกับความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ อีก ซึ่งรวมถึงผลกระทบของเงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และแรงกดดันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์

สำหรับ ผลกำไรของภาคธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.9% สู่ระดับ 7.98 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1 แต่ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าน้อยมาก โดยมีสาเหตุมาจากการล้มละลายของธนาคาร SVB และ SB