ส.โรงแรมไทยเผยโรงแรมส่วนใหญ่เหลือเงินไม่เกิน 3 เดือน เกือบครึ่งรายได้ไม่ถึง 30%

472
0
Share:
โรงแรม

สมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่าเดือนมกราคม 2565 โรงแรมส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 และมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 53% ของผลสำรวจในเดือนดังกล่าว ในรายละเอียด พบว่า มี 11% ที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 64 ขณะที่มี 17% โรงแรมที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยราว 40-55%

ด้านการจ้างงานในเดือนมกราคม 2565 พบว่าโรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยลดลงจากเดือนธันวาคม 64 ลงมาอยู่ที่ 63.6% ของการจ้างงานเดิมก่อนที่จะเกิดโรคระบาดโควิด-19 (หากไม่รวมกลุ่มที่ปิดกิจการชั่วคราวการจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 64.7%) การจ้างงานลดลงในเกือบทุกภาคของประเทศไทย สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่ลดลง ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้

การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในไทย ทำให้สัดส่วนยกเลิกการจองห้องพักในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2564 ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกการจองที่น้อยกว่า 25% ของยอดจองทั้งหมด ที่สำคัญโรงแรมในภาคตะวันออกมีถึงเกือบครึ่งที่มีลูกค้ายกเลิกการจองมากกว่า 50% ของยอดจองทั้งหมด

ด้านรายได้ในเดือนมกราคม 2565 พบว่า รายได้ของธุรกิจยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งใกล้เคียงกับเดือนธันวาคม 2564 มีโรงแรม 49% มีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% เมื่อเทียบกับก่อนการระบาดโรคโควิด-19 และมีโรงแรมเพียง 26% ที่รายได้กลับมาเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมตั้งอยู่ในภาคใต้ และภาคตะวันออก

สำหรับอัตราการเข้าพักในโรงแรมเดือนมกราคม 2565 พบว่ามีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 32% ลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 ที่ 37% โดยเป็นการปรับลดลงของโรงแรมในเกือบทุกภูมิภาค ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในวงกว้าง รวมถึงการยกเลิกมาตรการ Test & Go รายใหม่ชั่วคราว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้ที่ยังได้รับอานิสงส์จากการรับนักท่องเที่ยว Sandbox ส่งผลให้อัตราการเข้าพักยังสูงกว่าภาคอื่น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการเข้าพักในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะชะลอลงจากเดือนมกราคมมาอยู่ที่ 24% กลับมาใกล้เคียงกับเดือนตุลาคม 2564 หรือช่วงก่อนเปิดประเทศ

โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วน 3% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ปิดมามากกว่า 6 เดือน และคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป
สมาคมโรงแรมไทย จึงเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐบาล ที่ผู้ประกอบการต้องการ ได้แก่
1. โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม (Co-payment) และให้พักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย
2. มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น การเพิ่มจำนวนห้อง และระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สนับสนุนการจัดประชุมสำหรับองค์กร และด้านการตลาดหลังโควิด
3. รีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นเป็นระยะยาวแบบปลอดเงินต้น
4. สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข เช่น ค่า ATK
5. สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากการเปิดประเทศ ควรมีความชัดเจนของมาตรการรัฐและการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าสู่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว

ก่อนปฏิบัติจริงทั้งระบบที่รองรับการยื่นคำขอเข้าประเทศ และการจองคิวตรวจ RT-PCR
นอกจากนี้ สมาคมโรงแรมไทย (THA) ขอให้รัฐบาลพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกิจโรงแรมเป็นการเฉพาะ โดยขอผ่อนปรนและยืดเวลาการจัดเก็บออกไปอย่างน้อย 2 ปี เพื่อประเมินสถานการณ์ของไวรัสโควิดและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจ เกิดการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักโรงแรมดังกล่าว เป็นการจัดทำระหว่างสมาคมโรงแรมไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำเดือนมกราคม 2565 จากผลสำรวจผู้ประกอบการที่พักแรมจำนวน 200 แห่ง (เป็น ASQ 18 แห่ง, Hospitel 7 แห่ง) ระหว่างวันที่ 10-26 มกราคม 2565