หนี้กำลังจะเสียลามถึงเงินกู้ซื้อบ้านหลังละ 3 ล้านบาท ยอดหนี้พุ่งสูงถึง 37%

512
0
Share:
หนี้ กำลังจะเสียลามถึงเงินกู้ ซื้อบ้าน หลังละ 3 ล้านบาท ยอดหนี้พุ่งสูงถึง 37%

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทย มีดังนี้

แล้วเวลาก็เดินหน้ามาจนถึงสองเดือนสุดท้ายในปี 2566 วันนี้ผมขอ update ข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยจากฐานข้อมูลในเครดิตบูโร ณ ไตรมาส 3 สิ้นเดือนกันยายน 2566 ความมีดังนี้ครับ

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมดล่าสุด 16 ล้านล้านบาทนั้นเก็บข้อมูลที่เครดิตบูโรตอนนี้ที่รายงานคือ 13.55 ล้านล้านบาทครับ มีการเติบโต 3.8% (เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา) หรือเป็นการเติบโตขึ้น 0.7% (เทียบไตรมาสก่อนหน้านี้) มูลหนี้มีการวิ่งช้าลง การก่อหนี้ทุกท่านก็พอทราบว่าผ่านการอนุมัติน้อย อัตราการปฏิเสธหรือ reject rate สูง กติกาเข้ม โดยเฉพาะมีการตรวจสอบ, ประเมินรายได้ว่า แน่นอน มั่นคง เพียงพอ สม่ำเสมอ อยู่ตรงที่เท่าใดกันแน่ เพราะถ้าตรงนี้ไม่มากพอในการใช้หนี้เก่าที่ดอกเบี้ยมีการขยับกับเหลือมาใช้หนี้ใหม่ ก็เท่ากับว่าแรงที่จะผ่อนต่อเดือนมันลำบาก คือก็จะไปสอบตกคำว่าท่านเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพ นี่ยังไม่นับเรื่องค่าครองชีพ เพราะดูเหมือนจะมีการขยับขึ้นกันมาเรื่อยๆแบบมาช้านะแต่มาแน่ๆ ดูตัวอย่างน้ำตาลเป็นต้น…

ตัวเลขหนี้เสียหรือหนี้ค้างชำระเกิน 90วัน หรือหนี้ NPLs. ตอนนี้ไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาทคิดเป็น 7.7% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว 1.7% ตัวเลขลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท ถือว่าทรงตัวครับ ปัญหายังคงอยู่ วิบากกรรมยังคงที่ ที่น่าสนใจมากๆ คือหนี้รถยนต์ครับ ยอดอยู่ที่ 2.07 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% (เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา) ถ้าจากไตรมาสก่อนหน้าก็โตขึ้น 5.8% ที่ลดลงก็มีครับ คือสินเชื่อเกษตร เพราะน่าจะได้อานิสงค์จากการปรับโครงสร้างหนี้ในมาตรการพักชำระหนี้ที่ออกมาครับ

ตัวเลขหนี้เสียเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของ covid-19. หรือลูกหนี้ NPLs.รหัส 21 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลูกหนี้ NPLs. ตามข้อ 2 ข้างต้นคิดเป็นมูลหนี้ 3.9 แสนล้านบาทครับ คิดง่ายๆตัวเลขกลมๆ คือ 39% ของหนี้ NPLs. เป็นหนี้เสียจาก covid-19 ตัวเลขนี้เติบโตจากไตรมาสก่อน 4% และถ้าดูเทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา ลดลง 2.6% ครับ แต่เจาะไส้ในดู เราเห็นหนี้รถยนต์ครับ 3.9 หมื่นล้านบาทโตขึ้น 39% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา และโตขึ้น 17% เทียบไตรมาสก่อนหน้านี้ครับ ถ้าสินเชื่อบ้านก็ประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 11.3% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา และเทียบจากไตรมาสก่อนโตขึ้น 3.4% โควิดจบแล้วแต่เรายังมี Long covid. ด้านการเงินอีก 3.9 แสนล้านบาทนะครับ

หนี้กำลังจะเสียหรือลูกหนี้ SM, Special mention loan, ลูกหนี้ stage 2 หรือหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ มีการค้างชำระเลียงงวดกันไปๆมาๆ แต่ก็ยังไม่เลยธง 90วัน จึงยังไม่ใช่ NPLs. อันนี้คุณพระคุณเจ้ายังปกปักรักษาไว้ได้อยู่ครับ มีจำนวน 4.9 แสนล้านบาทครับ เติบโต 21.4% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา และโตจากไตรมาสที่แล้ว 3.7% ทีนี้ถ้าเจาะลงไปในเนื้อในพบว่า 1.37 แสนล้านบาทเป็นหนี้บ้านครับ โตขึ้น 37% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา อันนี้ไม่น่าจะสบายใจ ดูต่อครับ หนี้รถยนต์ 2.13 แสนล้านบาทโตขึ้น 17.5% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าโตขึ้น 4% ตรงนี้ใครๆก็รู้ว่า ถ้าค้าง 3งวดเมื่อไหร่ เจอการบอกเลิกสัญญา ขอรถยนต์คืนโดยละม่อมแน่ๆ ไอ้ครั้นจะยืดหนี้รถยนต์ให้ยาวออกไป มันก็ติดขัดว่าอายุรถยนต์มันจะสั้นกว่าอายุสัญญาเงินกู้ เจ้าหนี้คงไม่สบายใจ

หนี้เสียกลายเป็น NPLs.ไปแล้ว จากนั้นเจ้าหนี้เอาไปซ่อมแซม ที่เรียกว่าเอาไปปรับโครงสร้างหนี้ หรือเอาไปทำ TDR.นั้น ในไตรมาส 3 มีจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 1 ล้านล้านบาท(มูลค่า0.993 ล้านล้านบาท)เติบโต 28% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.5% ลงไปดูไส้ใน 2.67 แสนล้านบาทคือสินเชื่อบ้าน เพิ่มขึ้น 22% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา สินเชื่อรถยนต์ 3.86 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา และเครดิตการ์ด 1.9 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 32% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา

สรุป 1 ล้านล้านบาทเป็นหนี้เสีย 39%เป็นหนี้เสียเพราะโควิด หนี้เสียแล้วเอามาซ่อมเอามาปรับโครงสร้างหนี้เกือบ 1 ล้านล้านบาท และยังมีหนี้ที่กำลังจะไหลมาเป็นหนี้เสียอีก 4.9 แสนล้านบาท หนี้รถยนต์คือประเด็นต้องติดตามใกล้ชิด หนี้บ้านตามมาติดๆ ในกลุ่มวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท มีอะไรจะต้องทำให้รีบทำ นะครับ ถ้ามี shock อีกเรื่องจนราคาน้ำมันพุ่ง ก็มีหวังจบข่าว…