หนี้ลดนิดนึง! ครอบครัวไทยก่อหนี้เพิ่มอีกกว่า 130,000 ล้าน แม้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลงหลุด 90% ชี้สภาพหนี้น่ากังวล

501
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 2 ปีนี้ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวชะลอลงจากระดับ 90.6% ต่อจีดีพีในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงดังกล่าวเติบโตขึ้นในอัตราที่มากกว่าหนี้ครัวเรือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินต่อไปว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาสที่ 2 ที่ชะลอลงนั้น น่าจะเป็นภาวะชั่วคราว และไม่ได้สะท้อนว่าหนี้สินภาคครัวเรือนมีความน่ากังวลลดลงแม้แต่น้อย

หนี้สินของครัวเรือนที่ขยับขึ้นประมาณ 1.36 แสนล้านบาทในไตรมาส 2 นั้น เป็นผลมาจากการเร่งขึ้นของหนี้รายย่อย 2 ส่วน ได้แก่หนี้เพื่อที่อยู่อาศัยและหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันเป็นสำคัญ

ในช่วงที่เหลือของปี 64 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจะกลับมาเร่งสูงขึ้น โดยอาจขยับขึ้นเข้าใกล้กรอบบนของตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือน ซึ่งคาดการณ์ไว้ในช่วง 90-92% ต่อจีดีพี เนื่องจากหนี้สินของภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง และครัวเรือนบางส่วนอาจก่อหนี้เพิ่มในช่วงต้นไตรมาสที่ 3

การทยอยคลายล็อกมาตรการ ความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนและแนวทางการเปิดประเทศมากขึ้น น่าจะทยอยส่งผลดีต่อภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์รายได้ของภาคครัวเรือนในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้รายย่อยหลายกลุ่ม อาจยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ทันทีในภายปีนี้

ทั้งนี้ จากการผลสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงไตรมาสที่ 2 พบว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่ประมาณ 62.8% สนใจสมัครเข้ามาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ขณะที่มาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินที่ตรงใจลูกหนี้มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นการพักชำระหนี้ (50.4%) รองลงมาได้แก่ การลดยอดผ่อน+ยืดหนี้ให้ยาวขึ้น (20.3%) ลดค่างวด (16.0%) และรวมหนี้กับสินเชื่ออื่นเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (9.8%) ตามลำดับ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการกลุ่มหลังๆ นี้ล้วนเป็นมาตรการที่ช่วยปรับภาระหนี้ของลูกหนี้ให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับความสามารถในการหารายได้ในปัจจุบัน

ดังนั้น ประเด็นสำคัญในช่วงหลังจากนี้ก็คือการเร่งเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPLs โดยขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ธปท. ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ คงอยู่ระหว่างเตรียมประเมินความเหมาะสมของมาตรการ ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจ และสถานะของลูกหนี้แต่ละราย เพื่อให้สามารถเดินหน้าในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับลูกหนี้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในท้ายที่สุดย่อมเป็นผลดีต่อทั้งตัวลูกหนี้และสถาบันการเงินเจ้าหนี้