หมดรมณ์ขาย! โควิดรอบ 3 พ่วงมาตรการคุมพื้นที่ในไทย ทุบภาคการค้าทั้งระบบกระทบแรงงานกว่า 3 ล้านคน

431
0
Share:

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย หรือ Thai Retailers Association เปิดเผยรายงานความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำเดือนเมษายน 2564 พบว่า ในภาพรวมนั้น ผู้ประกอบการภาคการค้ามีความเชื่อมั่นตกต่ำลงมากกว่าเดือนมีนาคม 43% โดยดัชนีปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างชัดเจน ผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีผลเกือบเท่ากับการปิดล็อกดาวน์ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2563 ที่ผ่านมา รายงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ร้านค้าแม้ไม่ถูกปิดร้าน แต่ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ ขณะที่ภัตตาคารและร้านอาหารไม่ได้รับอนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้ ส่งผลกระทบต่อสต็อกสินค้าล้นระบบ เนื่องจากไม่มีการขายเกิดขึ้น ที่สุดส่งผลถึงธุรกิจขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ที่สำคัญผู้ประกอบการภาคการค้าปลีกมีความกังวลต่อยอดขายตกต่ำระหว่าง 15-40 % ทำให้เกิดการกระทบต่อการจ้างงาน และสภาพคล่องของผู้ประกอบการลดลง

.

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยต่อไปว่า โรคระบาดโควิด-19 รอบที่ 3 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบในลักษณะการเชื่อมโยงภาคธุรกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จะเห็นได้ชัดจากผลกระทบเกิดขึ้นตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจค้าส่ง ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และลุกลามไปถึงการจ้างงานรวมกว่า 3.12 ล้านคน หากพิจารณาในด้านมาตรการประกาศเขตควบคุมพิเศษ และการปรับเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้ม รวมทั้งสิ้น 6 จังหวัด ทำให้เกิดผลจะกระทบมากถึง 22% ต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีรวมของประเทศไทย

.

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างดัชนีในเดือนมกราคม 2564 และดัชนีในเดือนเมษายน 2564 แสดงผลชัดเจนว่า ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าในเดือนเมษายน 2564 ลดต่ำกว่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าเมื่อเดือนมกราคม 2564 สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของผู้ประกอบการที่มีต่อกาารฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากปัจจัยความกังวลด้านความรุนแรงของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รอบที่ 3 ที่สูงมาก และความวิตกกังวลด้านความไม่ชัดเจนของแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ที่รัฐบาลนำเสนอในตลอดเวลาที่ผ่านมา

.

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิมเดือนเมษายน same store sale growth (SSSG) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ปรากฎว่า ร่วงลงอย่างหนักกว่า 40% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม นั่นหมายถึงยอดขายในสาขาเดิมเมื่อเดือนเมษายน ร่วงลงจากเดือนมีนาคมเกือบครึ่งหนึ่ง สิ่งสำคัญ คือเป็นการลดลงทั้งกำบังซื้อต่อบิล และความถี่ในการจับจ่ายใช้สอย

.

ธุรกิจค้าปลีกไทยในภูมิภาคอื่นๆของไทยล้วนเผชิญกับความตกต่ำเข่นเดียวกัน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาค ปรากฎว่ามีสัดส่วนปรับลดลงจากเดือนเมษายนในทุกภาคของไทย สาเหตุจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 3 ได้กระจายไปครบคลุมทุกภูมิภาค หรือเป็นการระบาดที่ครบทุก 77 จังหวัดของประเทศไทย

.

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง และซ่อมบำรุง แม้จะมีค่าดัชนีปรับลดต่ำกว่าเดือนมีนาคมบ้าง แต่ในภาพรวมปรากฎว่า ธุรกิจยังขับเคลื่อนได้แม้จะไม่มากนัก ซึ่งเป็นผลพวงจากราคาเหล็กที่ปรับสูงขึ้น เพื่อใช้ในการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ส่งผลไปถึงราคาวัสดุก่อสร้างประเภทอื่นๆ ปรับตัวขึ้นตามไปด้วย สอดรับกับร้านค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง ได้รับปัจจับวกจากมาตรการวิถีใหม่ เช่น การทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home

.

ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของผลสำรวจในครั้งนี้ พบว่า ผลการสำรวจผู้ประกอบการที่บริหารร้านค้าปลีกกว่า 29,000 แห่ง ล้วนให้คำตอบในทิศทางสอดคล้องกันว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณย่ำแย่กว่าเดือนมีนาคม มากกว่า 25% และยังประเมินต่อไปว่า ยอดขายจะได้ผลกระทบมากกว่า 15-40% เมื่อเทียบเดือนมีนาคม ทั้งหมดมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือนเมษายนเป็นต้นมา

.

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย ในทุกภาคส่วนของทั้งค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการซึ่งได้ดำเนินเป็นประจำทุกเดือน สำหรับการสำรวจในเดือนเมษายนเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-24 เมษายน 2564 ประกอบด้วยร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศ รวมกันกว่า 23,000 แห่ง และร้านค้าปลีกบริการภัตตาคาร ร้านอาหารกว่า 6,000 แห่ง