หมอธีระคาด 27 ก.พ.นี้ ไทยจะถึงจุดพีค ชี้ยอดเสียชีวิตเอเชียสวนกระแสโลก

591
0
Share:
โควิด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ถึงสถานการณ์โควิด-19 โดย ระบุข้อความว่า ทะลุ 412 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,460,719 คน ตายเพิ่ม 5,433 คน รวมแล้วติดไปรวม 412,055,598 คน เสียชีวิตรวม 5,833,887 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส ตุรกี และญี่ปุ่น

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.09 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 83.56 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 53.24 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 33.16 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 8 ใน 20 อันดับแรกของโลก

…วิเคราะห์ภาพรวมทั่วโลก

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อใหม่ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 19% และตายลดลง 1% ในขณะที่เอเชียเรา ติดเชื้อลดลง 9% ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมีตายเพิ่มขึ้น 7% สวนกระแสโลก

ส่วนไทยเรานั้น ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 47% และตายเพิ่มขึ้น 12% ถือว่าเป็นขาขึ้นชัดเจน และต้องเน้นย้ำว่านี่เป็นตัวเลขที่ดูตามรายงานทางการที่เป็นเพียงจำนวนติดเชื้อยืนยัน โดยยังไม่ได้รวม ATK ดังนั้นสถานการณ์ระบาดจริงนั้นจึงรุนแรงกว่าตัวเลขข้างต้น

ดังที่วิเคราะห์ไปเมื่อวานนี้แล้วว่า หากเราเป็นไปตามธรรมชาติการระบาดที่เห็นจากประเทศอื่นทั่วโลก มีความเป็นไปได้ว่าการระบาดของไทยน่าจะเข้าสู่พีคในช่วง 27 กุมภาพันธ์ โดยอาจเบี่ยงเบนจากนั้นราวหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้ค่ามัธยฐานของจำนวนการติดเชื้อใหม่สูงสุดของ 22 ประเทศที่มีจำนวนติดเชื้อสะสมมากที่สุดใน 30 ลำดับแรกของโลก และได้ผ่านช่วงพีคของการระบาดไปแล้วนั้นจะอยู่ราว 3.6 เท่าของระลอกก่อนหน้า

การตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า การระบาดกำลังทวีความรุนแรง กระจายไปทั่ว และเป็นขาขึ้น จึงมีความสำคัญมาก ควรดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น เลี่ยงสถานที่คับแคบ ทึบ ระบายอากาศไม่ดี แออัด

ยิ่งวันนี้เป็นวันแห่งความรัก ซึ่งจะมีวัยรุ่นและวัยทำงานจำนวนมากออกมาเฉลิมฉลองกัน กินดื่มกัน หรือมีกิจกรรมพบปะกัน หากไม่ป้องกันให้ดีจะมีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้มาก และนำพาสู่การแพร่ระบาดในหมู่สมาชิกในครอบครัวและในสถานที่ทำงานกันเป็นทอดๆ โดยอาจทำให้การระบาดหนักขึ้น และยาวนานขึ้นได้

พึงระลึกไว้เสมอว่า แม้ Omicron จะรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่การติดเชื้อโควิด-19 นั้น ไม่ใช่แค่ติดเชื้อ ไปรักษาหรือประคับประคองดูอาการแล้วจะจบที่การหายจากโรค ปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอย่างหนักคือ ภาวะอาการคงค้างระยะยาวและโรคเรื้อรังที่จะเกิดขึ้น ที่เรียกว่า Long COVID ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวคนที่เคยติดเชื้อ ครอบครัว และสังคม โดยจะส่งผลต่อสมรรถนะของร่างกาย และสมรรถนะในการทำงานได้

…สถานการณ์ในเดนมาร์ก หนึ่งในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ที่ยกเลิกมาตรการเข้มข้นป้องกันการระบาดไปเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณของผลกระทบตามมา ทั้งในเรื่องจำนวนการติดเชื้อใหม่รายวัน การป่วย และการเสียชีวิต

ดังนั้นไทยเราคงต้องพิจารณาเรื่องนโยบายให้ดี การตัดสินใจก้าวตามคนอื่นนั้นควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะจุดหมายปลายทางนั้นอาจไม่ใช่ทางสว่างเสมอไป ค่อยๆ ก้าวอย่างมั่นคง จะไม่หกล้ม และอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน

สุขสันต์วันแห่งความรักครับ

นอกจากนี้ นพ.ธีระ ยังได้โพสต์ ด้วยว่า เมื่อเช้า(13 ก.พ.)มีคำถามในใจว่า ตอนนี้ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกนั้นผ่านพีคของ Omicron มาแล้ว เค้าใช้เวลามากน้อยแค่ไหนที่จะถึงพีคของการระบาด? เลยลองรวบรวมข้อมูล โดยพิจารณาจำนวนติดเชื้อต่อวันเฉลี่ยรายสัปดาห์ (7-day moving average) ของ 30 ประเทศแรกที่มีจำนวนติดเชื้อสูงสุดของโลก

ในจำนวนนี้มีบางส่วนที่ยังไม่ถึงพีค หรือยังไม่อยู่ในขาลง จึงไม่นำมาพิจารณา โดยมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มประเทศที่ผ่านพีคมาแล้ว เพื่อจะได้มาใช้คาดการณ์ว่าไทยเราซึ่งตอนนี้กำลังขาขึ้น จะมีโอกาสพีคตอนไหนหากดูจากธรรมชาติของโรคของทั่วโลก

คำตอบคือ ในภาพรวมของโลก จะใช้เวลาขึ้นสู่พีคราว 37 วัน แต่อาจมีความแตกต่างระหว่างบริบทของประเทศสูง แต่หากพิจารณาเฉพาะในกลุ่ม 30 ประเทศแรกที่ไทยอยู่ มี 22 ประเทศที่ดูจะผ่านพีคมาแล้ว โดยมีค่ามัธยฐานของเวลาสู่พีค อยู่ที่ 24 วัน และมีค่าเฉลี่ยประมาณ 25.8 ± 6.8 วัน

หากไทยดำเนินไปแบบประเทศอื่นๆ และนับจุดเริ่มอยู่ที่ 3 กุมภาพันธ์ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงขาขึ้นชัดเจน พีคของเราอาจอยู่ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 หรือเบี่ยงเบนกว่านั้นราวหนึ่งสัปดาห์สถานการณ์จริงนั้นจะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป เพราะมีปัจจัยอื่นที่จะมีอิทธิพลต่อการระบาดได้มาก เช่น พฤติกรรมป้องกันในช่วงเทศกาลต่างๆ ทั้งของแต่ละคนและของกิจการร้านค้าต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าขึ้นอยู่กับพวกเราในประเทศที่จะช่วยกันป้องกันตนเอง ดูแลลูกหลานและผู้สูงอายุ และดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียน หยุดงาน ตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม