หมอธีระชี้ให้เศรษฐกิจเดินด้วยหวังจะคุมโควิด-19 แต่ผลตรงกันข้าม ระบบสุขภาพของไทยรับมือไม่ไหวแน่

426
0
Share:

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เปิดเผยถึง 4 สาเหตุการระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงและเร็วกว่าที่หลายคนคิด มีข้อความว่า
วิเคราะห์ภาพรวมของทั่วโลก ยอตติดเชื้อรายวันสูงสุดของระลอกล่าสุดนี้ สูงกว่าตอนต้นปีที่ผ่านมาถึง 11% โดยที่ยังอยู่ในขาขึ้น มีโอกาสที่จะมากกว่านี้ หากยังไม่สามารถควบคุมได้
ลักษณะสาเหตุของการระบาดค่อนข้างตรงไปตรงมา มีปัจจัยหลักคือ

.
1.ไวรัสที่กลายพันธุ์ แพร่เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น ตายมากขึ้น แถมเกิดขึ้นปะทุพร้อมกันหลายประเทศหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ดื้อต่อการรักษา บางสายพันธุ์ดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นโดยวัคซีน
2.การรีบร้อนผ่อนคลายมาตรการของแต่ละประเทศ ทำให้มีคนพบปะกันมากขึ้น กิจกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น สถานที่เสี่ยงมีการประกอบการมากขึ้น ทั้งๆ ที่ยังมีการระบาดภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ประเทศใดมีจำนวนการติดเชื้อรายวันมาก จะหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่น ก็จะมีการระบาดซ้ำได้เร็วขึ้นตามลำดับ ดังที่เคยวิเคราะห์ให้เห็นมาแล้ว
3.”ความเชื่อที่ไม่เป็นจริง” ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบดั้งเดิม ไปพร้อมกับการที่จะควบคุมการระบาดได้ ทำให้ประเมินความร้ายกาจของโรคระบาดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทรัพยากรคนเงินของ เตียง หยูกยา หรือความสามารถของระบบที่แต่ละประเทศมีนั้น จะไม่มีทางที่จะรับมือได้หากมีการระบาดเร็วและรุนแรง นอกจากนี้ ประการสำคัญที่สุดคือ การเข็นเศรษฐกิจภายใต้รูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งค้าขาย บริการ ท่องเที่ยว ฯลฯ แบบเดิมนั้น ไม่สามารถทำไปได้อย่างปลอดภัย หากไม่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการ การทำธุรกรรมต่างๆ ให้ลดคน ลดจำนวนครั้งในการสัมผัส ลดเวลาในการสัมผัสพบปะติดต่อ และไม่ได้ทำให้ทั้งคนทำงานและลูกค้าป้องกันตัวอย่างถาวร สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง
4.อาวุธที่แต่ละประเทศมีใช้นั้น หลักๆ คือ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคยังมีจำกัด และมีประสิทธิภาพที่ยังไม่ดีมากนัก บางประเทศมียาที่ได้รับการพิสูจน์วิจัยชัดเจน แต่บางประเทศใช้ยาที่อาจยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์เพียงพอ ทำให้ผลการดูแลรักษาแตกต่างกันไป อัตราตายก็แตกต่างกันไป ในขณะที่วัคซีนที่ใช้ป้องกันนั้น ก็มีแตกต่างกันไปเช่นกัน ทั้งในเรื่องชนิดที่เลือกใช้ จำนวนวัคซีนที่มี ความครอบคลุมที่ฉีดได้ ทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรคของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันมาก

.
สำหรับสถานการณ์ไทยเรานั้น ระบาดกระจายทั่ว ทุกเพศทุกวัย คนติดเชื้อวัยเด็กและวัยทำงานนั้นมากกว่าครั้งก่อนๆ การดำเนินโรคภายหลังการติดเชื้อ เห็นกันได้ชัดว่า ป่วยกันมากขึ้น รุนแรงขึ้น เร็วขึ้น และตายกันมากขึ้น ควบคู่ไปกับศักยภาพของระบบสุขภาพที่กำลังจะเกินขีดจำกัดหากปล่อยให้ติดเชื้อระดับพันคนแบบนี้ไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เรื่องกลไกนโยบายและแนวทางการจัดการนั้น ได้ย้ำเตือนไปหลายครั้งแล้ว และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อเงื่อนเวลาที่มีไม่มาก