หมอธีระชี้ไทยเจอปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง เตือนกักตัวที่บ้านต้องระวัง โอกาสติดโควิดในบ้านมี 30%

436
0
Share:
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นหลังเมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ ได้มีการประกาศกึ่งล็อกดาวน์ในกรุงเทพ-ปริมณฑล-จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อตี 1 ของวันนี้ที่ผ่านมา
…ราชกิจจานุเบกษาประกาศเมื่อคืนนี้ โดยปิดแคมป์คนงานในพื้นที่กทม.และปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นเวลาหนึ่งเดือน ทั้งนี้มีการปรับให้ร้านอาหารขายแบบนำกลับเท่านั้น และงดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 20 คน
.
มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องเตรียมรับมือ
1. “ปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง”
เกิดในสองกลุ่มหลักคือ คนงานจากแคมป์ และผู้ติดเชื้อที่ไม่มีเตียงในกทม.และปริมณฑล ดังเห็นจากข่าวตั้งแต่วันก่อน คนงานจำนวนไม่น้อยเริ่มกระจายทยอยออกต่างจังหวัด หรือกลับถิ่นฐาน ตามแบบแผนพฤติกรรมมนุษย์ที่คาดการณ์ได้ เพราะตกอยู่ในภาวะ Risk taking for loss
เฉกเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่รอเตียงเป็นเวลานาน ก็เริ่มหาทางไปรับการดูแลรักษาในต่างจังหวัด
สิ่งที่ควรพิจารณา:
.
– แต่ละจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ควรเตรียมระบบในการตรวจตราคนที่เดินทางมาจากต่างถิ่น และให้กักตัวเพื่อสังเกตอาการ หรือนำสู่ระบบการตรวจคัดกรองโรค หรือดูแลรักษา เพราะหากหลุด จะพบกับการระบาดแบบดาวกระจายในช่วงต้นถึงกลางเดือนหน้า
– โรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ควรเตรียมแผนจัดสรรทรัพยากรคนเงินของและหยูกยาให้พร้อมรับมือ ทั้งในกรณีการระบาดปะทุแบบดาวกระจายจากแคมป์คนงาน และในกรณีที่จะมีผู้ติดเชื้อจากพื้นที่ระบาดหนักเดินทางไปขอรับการดูแลรักษา สิ่งที่ต้องเตรียมให้มากคือ การแบ่งทีมงานเผื่อสลับเวลาเกิดปัญหาการติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน เตรียมระบบการตรวจคัดกรองโรคให้เพียงพอ และที่สำคัญคือ อุปกรณ์ป้องกัน และยา
– จังหวัดที่มีความเป็นเมืองสูง ควรถึงเวลาที่จะระดมทรัพยากร จัดระบบการตรวจคัดกรองโรคให้สามารถทำได้มากและต่อเนื่อง และควรเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ตรวจได้ฟรี ไม่ติดกฎเกณฑ์เรื่องอาการหรือประวัติเสี่ยง
.
2. “The weakest link ในกทม.และปริมณฑล”
แม้จะมีการประกาศมาตรการเข้มข้น คล้ายกึ่งล็อคดาวน์ก็ตาม แต่ประเมินแล้วยากที่จะควบคุมการระบาดได้ในเวลาสั้น เพราะจุดอ่อนสำคัญที่สุดคือ ระบบการตรวจคัดกรองโรคที่ยังมีจำกัด ไม่ครอบคลุม เข้าถึงได้ยาก
จำนวนการติดเชื้อในระลอกสามของเราตอนนี้มีมาก และปล่อยไว้ยาวนานต่อเนื่อง จึงกระจายไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะจุดเสี่ยงกิจกรรมเสี่ยงกิจการเสี่ยงอีกต่อไป ความเป็นจริงนั้นย่อมเห็นชัดเจนว่าทุกคนในสังคมมีโอกาสติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว
หากไม่มีระบบบริการตรวจคัดกรองโรคที่มากพอ ง่ายพอ เข้าถึงได้ การติดเชื้อแพร่เชื้อย่อมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในที่พักอาศัยในลักษณะบ้านเรือน หอพัก แฟลต คอนโด หรือชุมชนแออัด รวมไปถึงในที่ทำงานและสถานประกอบกิจการต่างๆ ดังนั้นถึงทำมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ไปหนึ่งเดือน ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก็จะยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่
.
สิ่งที่ควรพิจารณา:
– กทม.และจังหวัดปริมณฑล ควรทุ่มทรัพยากรเพื่อจัดระบบบริการตรวจคัดกรองโรคให้มีศักยภาพมากกว่าที่มีในปัจจุบัน ทำในหลายรูปแบบ ทั้งการตรวจในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน จุดให้บริการตรวจในชุมชน รถเคลื่อนที่ และอาจต้องจัดทีมเพื่อดำเนินการ knock the door and do the test ในพื้นที่ที่จำเป็น
– รัฐควรปลดล็อคกฎเกณฑ์การตรวจคัดกรองโรค ให้ทุกคนในประเทศ ทั้งไทยและต่างชาติ สามารถรับบริการตรวจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการ มีประวัติเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงก็ตาม ทั้งนี้โปรดตระหนักไว้ว่า โดยปกติแล้วไม่มีใครอยากไปโดนแยงจมูกให้เจ็บตัวแน่นอน การตรวจให้มากและเร็วจะช่วยให้เจอคนที่ติดเชื้อและนำสู่การดูแลรักษาเพื่อตัดวงจรการระบาดและช่วยรักษาชีวิตคนได้มาก
.
3. “การกักตัวที่บ้าน (Home isolation)”
ปัญหาเตียงไม่พอในกทม.และปริมณฑล เพราะมีคนติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้มีหลายหน่วยงานพยายามคิดวางแผนจะให้ทำการกักตัวที่บ้าน หรือ home isolation ก่อนตัดสินใจ จำเป็นจะต้องวางแผนให้ดี
ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในกทม.และปริมณฑล ที่มีความเป็นเมืองสูง การทำ Home isolation คงทำได้แค่บางบ้านที่มีพื้นที่ แต่หากไม่มีพื้นที่พอ แยกอยู่แยกกินแยกสุขาแยกนอนไม่ได้ คงจะต้องเน้นใส่หน้ากาก หมั่นถามไถ่สังเกตอาการสมาชิกในบ้าน และจัดบริการตรวจคัดกรองโรคให้ทุกคนในบ้านเป็นระยะ
คาดว่าหากเราต้องทำมาตรการกักตัวที่บ้านจริงๆ ไทยเราคงจะมีโอกาสระบาดหนักทีเดียวครับ คงต้องช่วยกันประคับประคองหารูปแบบที่เหมาะสม
ความรู้ปัจจุบัน โอกาสเฉลี่ยในการติดในบ้าน 30%
.
สิ่งที่ควรพิจารณา:
– วางแผนการนำส่งผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีเตียงรักษา ไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่ยังพอมีทรัพยากรรองรับ ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่ามีทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ
– หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำ home isolation หัวใจสำคัญที่สุดคือ การจัดบริการตรวจคัดกรองโรคให้แก่ทุกคนในบ้านหรือที่อาศัยร่วมกัน การจัดอุปกรณ์ป้องกัน ทั้งหน้ากาก และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ ให้แก่ประชาชนและผู้ติดเชื้ออย่างเพียงพอ และระบบสนับสนุนในชุมชน เรื่องอาหารการกินและน้ำดื่ม
ศึกนี้ยาวและหนักมาก ขอให้เราเป็นกำลังใจให้กันและกัน มีพลังใจในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้ ป้องกันตัวและสมาชิกในครอบครัวอย่างเต็มที่