หมอธีระเปิด 4 กลุ่มลดเสี่ยงติดพันธ์ุโอไมครอน

621
0
Share:

วันนี้ 13 ธันวาคม 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟสบุ๊กเกี่ยวกับกลุ่มผู้ได้รับฉีดวัคซีนแบะปฏิบัติตัวป้องกันความเสี่ยงในการลดติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน มีดังนี้

13 ธันวาคม 2564…

…ภาพรวมทั่วโลก

ฝั่งยุโรป European Centre for Disease Prevention and Control (ECDC) อัพเดตสถานการณ์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 พบว่ามีการรายงานเคสติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron ไปแล้ว 25 ประเทศ ประเทศที่มีจำนวนเคสสะสมมากเป็น 3 อันดับแรกคือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และเยอรมัน

การระบาดใน Nordic countries นั้นหนัก ติดกันวันละหลายพันและขึ้นเป็น exponential ยกเว้นในไอซ์แลนด์ที่ยังทรงๆ ที่ร้อยกว่ารายต่อวัน

ในขณะที่แอฟริกาใต้ เอสวาตินี่ (เดิมชื่อ Swaziland) รวมถึงสหราชอาณาจักร ก็เผชิญการระบาดของ Omicron อย่างรวดเร็ว ส่วนแถบเอเชีย จะสังเกตว่าเวียดนามและเกาหลีใต้ก็พุ่งขึ้นในลักษณะเดียวกัน

…สำหรับไทยเรา

พิจารณาตามปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาด จะพบว่าสถานการณ์ปัจจุบัน แม้จำนวนการติดเชื้อใหม่แต่ละวันที่รายงานจะลดลง แต่อันดับโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก

นอกจากนี้การเปิดประเทศ เปิดกิจการกิจกรรมท่องเที่ยว และการดำเนินชีวิตต่างๆ ทำให้มีการพบปะสังสรรค์ สัมผัสระหว่างกันมากขึ้น นานขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทุย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

และชัดเจนว่า วัคซีนที่เคยฉีดนั้นไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการโดยสายพันธุ์ Omicron ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันที่ไม่สูงเท่า mRNA vaccines

ข้อมูลจากงานวิจัยระดับสากลที่ออกมาในปัจจุบัน ทำให้เราทราบได้ว่า หากจะเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการระบาดของ Omicron

กลุ่มที่ฉีดวัคซีน mRNA 3 เข็ม

กลุ่มที่ฉีด Az 2 เข็ม และกระตุ้นด้วย mRNA vaccine

กลุ่มที่ติดเชื้อมาก่อน และได้รับ mRNA vaccine เป็นเข็มกระตุ้น

และกลุ่มที่ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดมาก จนไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเลย

เหล่านี้คือกลุ่มที่จะสามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อแบบมีอาการจาก Omicron หากมีการระบาดขึ้นมาในประเทศ

นอกเหนือจากที่บอกไว้ข้างต้น ยังไม่มีข้อมูลวิชาการเพียงพอที่จะบอกได้ว่าภูมิที่มีนั้นเพียงพอในการป้องกัน Omicron ได้หรือไม่ และควรประพฤติปฏิบัติเสมือนกลุ่มที่ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดมาก จนไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คงจะดีที่สุดครับ

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตรอย่างเป็นกิจวัตร…พฤติกรรม 2 อย่างนี้ คงต้องทำกันไปอย่างยาวนานจนเป็นนิสัย

เพราะถึงจะมีข้อมูลเรื่องวัคซีนข้างต้น แต่จะเห็นว่า ที่น่าเป็นห่วงมากคือ ลูกหลานของเราที่อาจยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันได้อย่างเต็มที่ และข้อมูลความรู้ก็ยังไม่กระจ่างดีสำหรับประชากรวัยเด็ก