หมอธีระแนะใช้โมเดลฉีดวัคซีนแบบสหรัฐ เตือนโหมกระแสกระตุ้นท่องเที่ยวไม่ถูกกาละเทศะ

573
0
Share:
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 อีก 1 ปีจากนี้ไปในไทยว่า
สิ่งที่ควรทำตอนนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ครึ่งปีหลังไปจนถึงกลางปีหน้า…
“จัดตั้งจุดบริการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับประชาชนทุกคน กระจายครอบคลุมในทุกพื้นที่”
การจัดระบบบริการตรวจเช่นนี้เป็นหัวใจสำคัญ หากพิจารณาลักษณะการระบาดของเราที่กระจายไปทั่ว หาต้นตอได้ยาก และไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงมากที่จะติดเชื้อไปอย่างต่อเนื่อง
.
ทั้งนี้บริการตรวจ ควรใช้เครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน และมีจุดบริการที่ไม่ได้อยู่ในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ควรมีตามที่ต่างๆ ที่คนดำรงชีวิตประจำวัน และสามารถตรวจได้โดยไม่จำเป็นต้องติดกฎเกณฑ์เรื่องประวัติเสี่ยงหรืออาการใดๆ
แน่นอนว่าจะทำเช่นนี้ได้ คงต้องมีการวางแผนขยายศักยภาพของระบบให้รองรับการตรวจจำนวนมากได้ มีการวางแผนระบบส่งต่อสิ่งส่งตรวจ และการแจ้งผล
“วางแผนขยายจุดฉีดวัคซีน โดยปรับใช้โมเดลแบบอเมริกา ให้กลายเป็นกิจวัตรประจำ”
จะทำเช่นนี้ได้ จุดบริการที่พอเป็นไปได้สำหรับบริบทไทย น่าจะเป็นคลินิก และร้านขายยาที่มีบุคลากรทางการแพทย์ดูแลอยู่
และจะทำเช่นนี้ได้ ปริมาณและชนิดของวัคซีนควรมีหลากหลายและมากเพียงพอสำหรับทุกคน และปลดล็อคการจัดหาวัคซีน ให้หน่วยงานต่างๆ สามารถสั่งซื้อเข้ามาเพื่อขยายบริการได้ โดยรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ได้ตามความต้องการ
.
มุ่งเป้าว่าทำอย่างไรก็ได้ให้คนเข้าถึงวัคซีน และมีทั้งแบบจ่ายเงินหรือฟรีแล้วแต่จะเลือกเอาตามความเหมาะสมของแต่ละคน
ท่องไว้ว่า เพื่อให้เข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด เร็วที่สุด
คนเราเชื่อถือข้อมูลแตกต่างกัน สรรพคุณของแต่ละวัคซีนก็อาจแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะ แต่หากทุกชนิดผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก ก็นำเข้ามาให้มากชนิด เพื่อให้คนได้มีตัวเลือกตามที่เชื่อมั่น นี่คือสิ่งควรทำ
“ระวังการโหมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในเวลาที่ไม่สมควร”
.
พึงระลึกไว้ว่า หากยังคุมการระบาดไม่ได้ คงยากมากที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจไปควบคู่กัน เพราะโอกาสที่สถานการณ์ระบาดจะแย่ลงย่อมมีสูง เนื่องจากกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เราเห็นกันมา ย่อมทำให้เกิดการพบปะ ค้าขาย บริการ มีทั้งปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ ได้แก่ ความใกล้ชิด/แออัดมากขึ้น จำนวนการพบปะติดต่อกันมากขึ้น และระยะเวลาสัมผัสกันมีมากขึ้น
จึงต้องย้ำเตือนให้เผื่อใจไว้ด้วยว่า หากไม่ตัดวงจรการระบาดอย่างเข้มข้นเข้มงวดโดยเร็ว การระบาดยิ่งยาวนานและส่งผลกระทบวงกว้าง
นอกจากนี้งบประมาณที่เราทำการกู้มาเพิ่ม ขอให้เก็บสำรองไว้เพื่อใช้ฟื้นฟูในช่วงเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม มิฉะนั้นจะสูญเปล่า หรือได้ผลตอบแทนอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
.
สุดท้าย…”ธุรกิจห้างร้านต่างๆ จำเป็นจะต้องหาทางปรับรูปแบบการทำงานของตนเอง ให้เน้นความปลอดภัยทั้งต่อตัวเจ้าของกิจการและลูกจ้าง รวมถึงลูกค้า”
เท่าที่คาดการณ์ จากนี้ไปจนถึงกลางปีหน้า เราจะยังมีโอกาสวนเวียนกับปัญหาการระบาดซ้ำได้ ดังนั้นช่วงเวลาใดที่ประกอบกิจการได้ ก็ให้เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ ก็จะทำให้เราประคับประคองกิจการไปได้ โดยไม่ต้องผจญปัญหาติดเชื้อในกิจการของเราบ่อยๆ และจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมด้วย
…ตรวจให้เยอะและต่อเนื่อง เร่งหาอาวุธมากมายหลายหลายมุ่งให้เข้าถึงให้มากที่สุดโดยเร็ว ประคับประคองกันและกัน ใช้เงินให้คุ้มค่า ลงเงินให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่ควรลง และปรับรูปแบบกิจการให้เน้นความปลอดภัย…