‘หมอนิธิพัฒน์’ เผยเตียงรพ.เริ่มฝืด ผู้ป่วยโควิดตกค้างห้องฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น

433
0
Share:
โควิด

เมื่อวันที่ 16 ก.พ.65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า… มีขึ้นมีลงตามกลไกตลาด? หลังจากลงมา 3 วัน นิวไฮใหม่ก็มาแล้ว ยังดีที่ยอดผู้ป่วยอาการหนักลดลง 3 คน โดยยอดผู้เสียชีวิตคงที่ ยังคงต้องจับตากันใกล้ชิดต่อไป

ที่บ้านริมน้ำเริ่มมีผู้ป่วยโควิดตกค้างที่ห้องฉุกเฉินมากขึ้น ส่วนใหญ่อาการไม่หนักแต่ต้องรอสถานที่ส่งต่อ ส่วนพวกที่หนักก็มักจะเป็นจากโรคพื้นฐานเอง หนักจากโควิดพบเป็นส่วนน้อย ภาวะเตียงฝืดเข้ามาแทนเตียงเฟ้อของเมื่อเดือนที่แล้วโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่สามารถอัดฉีดเม็ดเงิน (เตียง) เข้าสู่ระบบได้ คงไม่ต่างกับเงินในกระเป๋าของรัฐบาลตอนนี้ ช่วยกันชะลอโรคไปก่อน รับรองว่าเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายแน่

ในยามสิ้นไร้ไม้ตอกท้อแท้หดหู่ การยิงประตูคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาอีกลูกเดียว ก็เหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ คล้ายความรู้สึกของบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อเห็นผู้ป่วยโควิดในความดูแลดีขึ้นคนแล้วคนเล่า แม้จะยังมีคนใหม่ป่วยเข้ามาต่อเนื่องไม่ยอมหยุด มีทีมวิจัยที่รวบรวมข้อมูลรายงานการระบาดของโควิดในโรงเรียนอย่างเป็นทางการ จาก 35 แห่งทั่วโลก พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการแพร่เชื้อในโรงเรียนที่สำคัญคือ การระบาดมากในชุมชน โดยเพิ่มความเสี่ยงขึ้นมา 1.11 – 2.72 เท่า

ในทางตรงข้าม มาตรการรักษาระยะห่างในโรงเรียนร่วมกับการใส่หน้ากาก จะช่วยลดการแพร่เชื้อลงได้ 0.25 เท่า และการที่นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนกันเยอะ จะช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดลงได้ 0.57 เท่า โดยจะเห็นผลในเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก (0.47 เท่าเทียบกับ 0.90 เท่า) ดังนั้นการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนทุกวัยล้วนมีความสำคัญ แต่การฉีดในช่วงวัยรุ่นจะช่วยลดการแพร่ระบาดในโรงเรียนได้ดีกว่า ส่วนในเด็กเล็กต้องมีมาตรการอื่นในโรงเรียนเสริมจากการฉีดวัคซีนด้วย

ที่น่าสนใจต่อไปคือ ทำไมวัยรุ่นบางส่วนจึงยังลังเลการเข้ารับวัคซีนโควิด ข้อมูลจากการสำรวจออนไลน์ในประเทศฮ่องกง จากวัยรุ่นกลุ่มตัวอย่าง 2,609 คน พบว่ามีเพียง 39% เท่านั้นที่ตั้งใจจะเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยไม่ลังเล เป็นผลจากการพบเห็นสมาชิกในครอบครัวป่วยจากโควิด โดยเฉพาะกรณีที่เป็นพ่อหรือแม่ด้วย ส่วนข้อกังวลที่พบส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความสงสัยในประสิทธิภาพของวัคซีนและผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต่างกับนักเรียนวัย 12-17 ปีในบ้านเรา ที่ยอมรับการฉีดวัคซีนโควิดสูงถึงเกือบ 80%

ที่บ้านเรายอมรับเยอะอาจเป็นผลมาจากผู้ปกครองเป็นหลักก็ได้ การศึกษาในกลุ่มผู้ปกครองของนักเรียนวัยรุ่นจำนวน 13,327 คนในประเทศจีน พบมี 13.5% ที่ปฏิเสธการรับวัคซีน และราว 4% ไม่แน่ใจแต่ก็ยังให้ลูกหลานรับวัคซีน ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิเสธวัคซีน คือ ผู้ปกครองที่เป็นโสด และ การมีฐานะดีมากหรือไม่ก็จนมาก

ส่วนปัจจัยที่ส่งเสริมการยอมรับวัคซีน คือ การได้รับข้อมูลเรื่องวัคซีนจากอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน การไม่เชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับวัคซีนโควิด และประสบการณ์ตรงของผู้ปกครองเองในการฉีดวัคซีน