หวังชิมช้อปใช้เฟส 2 กระตุ้นจีดีพีปลายปี

730
0
Share:

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คาดการณ์เศรษฐกิจไทย หรือ GDP ในปี 2562 จะขยายตัวได้ 2.8% เนื่องจากมีปัจจัยกดดันจากปัญหาสงครามการค้าที่ยังไม่คลี่คลาย ปัญหา Brexit ที่ส่งผลกระทบกดดันภาคการส่งออกของไทยอย่างมาก และเงินบาทแข็งค่ากระทบภาคการท่องเที่ยว โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา GDP ขยายตัวได้ 2.6%
.
หากต้องการให้ GDP ปีนี้ขยายตัวได้ถึง 3% ในไตรมาส 4/2562 ต้องขยายตัวอย่างต่ำ 4% ดังนั้นช่วงที่เหลือ 2 เดือนสุดท้ายของปี รัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอย่างน้อย 3-5 หมื่นล้านบาท ผ่านมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อให้กระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อ และการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น
.
โดยมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 เชื่อว่าจะให้ผลดีกับเศรษฐกิจมากกว่าเฟสแรก เพราะเฟสแรกประชาชนที่ไปลงทะเบียนเพื่อหวังได้รับสิทธิ์ 1,000 บาท ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อรับเงินแคชแบ็ก 15% ยังไม่มีแรงจูงใจพอ แต่ในเฟส 2 มองว่าประชาชนที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่จะมีการวางแผนท่องเที่ยวจริง ทำให้มีเม็ดเงินหมุนลงสู่ระบบ 2-3 หมื่นล้านบาท ช่วยสนับสนุน GDP ได้ 0.1-0.2%
.
ส่วนภาพรวมตัวเลขจีดีพีภาคเอสเอ็มอีในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 3-3.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.5-4% จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง กำลังซื้อที่ลดลง แต่มองว่าในระยะต่อไปจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการประกันรายได้ของเกษตรกรที่จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อภายในประเทศ
.
ส่วนดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอี และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ในไตรมาส 3 พบว่า อยู่ที่ 41.5 ลดลง 1.2 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.9
.
ส่วนดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ระดับ 47.8 ลดลง 1 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าในไตรมาสที่ 4 จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 48.1
.
โดยปัจจัยบวกในไตรมาส 4 มาจากช่วงไฮซีซั่นของภาคการท่องเที่ยว ที่ส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล จากมาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการประกันรายได้ภาคเกษตร