หอการค้ากังวลขึ้นดอกเบี้ยกระทบต้นทุนธุรกิจ เพิ่มหนี้ ประชาชนลดใช้จ่าย กระทบเศรษฐกิจ

189
0
Share:
หอการค้าไทย กังวลขึ้น ดอกเบี้ย กระทบต้นทุน ธุรกิจ เพิ่มหนี้ ประชาชนลดใช้จ่าย กระทบเศรษฐกิจ

จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 27 ก.ย. 2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นจาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติ กนง.ดังกล่าว ผิดคาดจากนักวิชาการหลายคนที่คาดว่า จะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ทั้งนี้ เมื่อ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วต่อไปต้องดูว่าเวลาไหนเหมาะสมที่จะต้องมีปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะการขึ้นดอกเบี้ยส่งผลต่อต้นทุนของภาคเอกชน รวมถึงประชาชนด้วยจากการที่ดอกเบี้ยขึ้นส่งผลให้มีหนี้เพิ่มขึ้นทำให้กำลังซื้อลดลง

ส่วนการลงทุนใหม่ก็จะชะลอตัวเพราะต้นทุนการเงินเพิ่ม ในขณะที่การผลิตสินค้าออกมาจากต้นทุนต่ำก็มองไม่เห็น แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศลดค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ก็ตามเนื่องจากผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะการผลิตสินค้าต้องใช้เงินกู้เกือบทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นวิธีการหนึ่งที่แก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพื่อกดให้เงินเฟ้อต่ำลง โดยหลายประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงจะใช้วิธีการนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป แต่ก็มีบางประเทศที่ไม่ใช้วิธีการนี้ เช่น ญี่ปุ่น ในส่วนประเทศไทยก็เช่นกัน แต่ของไทยเป็นการสกัดกั้นการไหลของเงินทุน แต่ในช่วงเวลานี้การไหลออกของเงินอาจไม่เกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวแต่มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อจิตวิทยาด้านการลงทุน

ส่วนกรณีที่เงินบาทของไทยที่อ่อนค่ามากในช่วงนี้นั้นหากเทียบสถิติกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง พบว่าประเทศไทยอยู่ในระดับกลางที่อ่อนค่า ซึ่งไทยไม่ได้เป็นประเทศที่อ่อนค่าที่สุดยังมีประเทศอื่นที่เงินอ่อนค่ามากกว่าไทยดังนั้นการที่เงินบาทแข็งค่ามากก็จะกระทบกับจีดีพีไทย เพราะจีดีพีหลักของไทยมี 2 ส่วนคือ การส่งออก 60% และการท่องเที่ยว 10% ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้ต้องการค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากกว่าแข็งค่าเพื่อช่วยประคองการส่งออก เพราะปัญหาใหญ่คือเรื่องการชะลอของดีมานด์ การสั่งซื้อลดลงมาก

ขณะที่ผู้ซื้อต้องการซื้อสินค้าที่ถูก และถ้าเงินบาทอ่อนค่าเราสามารถแข่งขันด้านราคาได้ แต่หากเงินบาทแข็งค่า เราจะลดราคาสินค้าแข่งขันกับคู่แข่งก็เป็นไปได้ยากผู้ประกอบการอยู่ยาก

ด้านการท่องเที่ยวก็เช่นกัน เมื่อเงินบาทอ่อนค่านักท่องเที่ยวต่างชาติก็เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยมาก เหมือนเราไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นหากเงินเยนอ่อนเราก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นมากเช่นกัน ซึ่งทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวเมื่อเงินบาทอ่อนค่าย่อมส่งผลดีและประโยชย์ แต่ที่เรามีปัญหาคือพลังงานที่นำเข้ามีราคาสูงขึ้น ที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้น